ไข้หวัดใหญ่มีทั้งหมดกี่สายพันธุ์
สายพันธุ์ใหญ่ ๆ 3 สายพันธุ์ คือ เอ บี และซี ซึ่งสายพันธุ์ซี มีความรุนแรงน้อยที่สุด สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอและบี เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอมักจะมีความรุนแรงมากกว่า
ช่วงของการระบาดไข้หวัดใหญ่อยู่ในช่วงใด
จากสถิติของประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงที่มีการระบาดจำนวนมาก คือช่วงปลายปี เช่น ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ไปจนกระทั่งถึงต้นปีถัดไป ฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี
จากการรวบรวมข้อมูลทางกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า สามารถระบาดได้ทั้งปี แต่ว่าการระบาด จะพบได้ 2 ช่วงคือช่วงหน้าหนาว และช่วงฤดูฝน ในช่วงที่เด็กเริ่มไปโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าฝนจะเป็นช่วงที่ไวรัสแพร่เชื้อกระจายและติดต่อกันได้ง่าย เพราะเด็กอยู่รวมกันที่โรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกันใช้แก้วน้ำหรือขวดน้ำ ทานข้าวร่วมกัน จึงมีโอกาสแพร่เชื้อระบาดได้มากกว่า
ไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อหรือการระบาดสามารถติดต่อกันผ่านทางไหนได้บ้าง
ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางละอองฝอย สิ่งคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก การไอ จาม แต่ละอองฝอยของไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ฟุ้งกระจายเหมือนเชื้อวัณโรคที่ค่อนข้างหนัก และมีการติดต่อกันทางละอองฝอย เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอ การจาม เพราะฉะนั้นถึงพบในเด็กเป็นจำนวนมากเพราะเด็กไม่ค่อยมีการป้องกัน ซึ่งเหมือนหลายโรคเช่น โควิด-19 หรือ RSV ที่เป็นไวรัสพบบ่อยได้ในวัยเด็กเช่นเดียวกัน แต่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือช่วงที่ผ่านมาจะมีโรคเกี่ยวกับ ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ซึ่งพบในเด็กเล็กเช่นเดียวกัน อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และเด็กบางคนอาจจะมีขี้ตา ซึ่งจะเจอเชื้อตัวนี้ค่อนข้างมีการระบาดในเด็กเล็กเช่นกัน
ข้อสังเกตว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่
ข้อสังเกตชัดเจนของไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูงเฉียบพลัน ช่วงตอนเช้าอาจจะมีอาการปกติ แล้วอยู่ๆ ก็มีไข้สูงขึ้นมาทันที 38-40 องศาเซลเซียส และมีอาการหน้าแดงมาก
และเด็กจะมีอาการอย่างอื่นคล้ายกัน เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่อาการของไข้หวัดใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะมาก และจะปวดกล้ามเนื้อตามตัว เด็กโตจะบอกอาการได้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย
แต่ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดาไข้จะไม่สูงมาก หน้าจะไม่แดง ไม่มีอาการปวดศีรษะมาก
ในผู้ใหญ่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ไข้หวัดใหญ่ได้ อาการคล้ายกับเด็ก ไข้สูงเฉียบพลัน หน้าตาแดง ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อมาก ส่วนอาการอื่นๆ เช่น มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ
อันตรายและความรุนแรง
ความรุนแรงหรืออัตราการเสียชีวิตจะพบได้มากในกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เราต้องให้ความระมัดระวัง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่มาก เช่น อาการปอดบวมหรือปวดอักเสบ อาการหลอดลมอักเสบ หรืออาจจะชักนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรง
ในเด็กบางคนมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง อุจจาระเหลว มีเป็นอาการที่แรกซ้อนได้
โรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง
ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เช่นผู้ที่มีอายุ 60-65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรังเป็นต้น
แนวทางเบื้องต้นการวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่
เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มซักประวัติ เกี่ยวกับการสัมผัสผู้เจ็บป่วยรายอื่นบ้างหรือไม่ เด็กอาจจะไปที่โรงเรียนแล้วมีเด็กป่วยในเนอสเซอรี่หรือมีผู้ใหญ่ที่ป่วยในบ้านในครอบครัว
อาการเบื้องต้นของไข้หวัดใหญ่ที่เข้าข่ายว่าเป็นหรือไม่
แพทย์จะตรวจร่างกาย ถ้าตรวจร่างกายกลุ่มอาการไข้หวัดใหญ่ อาจจะมีตาแดงได้ คออักเสบ คอแดงได้ ถ้าลงปอดบางคนอาจจะมีอาการเหนื่อยหอบ และอาจจะมีอาการที่เรียกว่าเหมือนกลุ่มที่อ่อนเพลีย สติสัมปชัญญะอาจจะเบลอได้ ในกลุ่มที่มีอาการมาก หรือว่าการรับประทานอาหารได้น้อย มีภาวะขาดน้ำ เมื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะให้การวินิจฉัย เรียกว่าอาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ คือการตรวจโดยใช้การป้าย(Swab) โดยใช้สิ่งคัดหลั่ง น้ำมูก หรือบริเวณคอ คอหอยทอนซิล ตรวจ LAB kid ตรวจได้เร็วเพื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการเพื่อทราบผลเร็ว ปัจจุบันมีการตรวจการป้าย(Swab) ทางช่องจมูก หรือบริเวณคอหอย ก็สามารถตรวจได้เร็ว
สำหรับไข้หวัดใหญ่อาจจะยังไม่แพร่หลาย ไม่เหมือน ATK หรือ โควิด-19 ที่หาซื้อมาการป้าย(Swab) เองได้ โดยทั่วไปปัจจุบันไข้หวัดใหญ่อาจจะยังหายากกว่า ATK เพราะฉะนั้นการมาตรวจที่โรงพยาบาลจะดีที่สุด
การรักษา
แยกกลุ่มผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม
– กลุ่มอาการไม่มาก มีอาการน้อย แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไอ จะให้ยาที่ละลายเสมหะรักษาตามอาการไม่จำเป็นให้ยาอะไรเป็นพิเศษ ถ้ามีไข้แพทย์จะให้ยาลดไข้ ดื่มน้ำมาก พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าเป็นเด็กเล็กแนะนำให้หยุดเรียนเพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ใส่แมสใส่หน้ากากป้องกันตัวเอง
– กลุ่มอาการปานกลาง จะเช็คอาการว่าไหวหรือไม่ ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือไม่ เช่นกลุ่มที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาเจียน มีอาการหนักจะให้นอนโรงพยาบาล กลุ่มนี้จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ซึ่งปัจจุบันจะมียาต้านไวรัสสำหรับไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ สายพันธุ์บีเรียบร้อยแล้ว ในเด็กจะมียาน้ำ ในผู้ใหญ่จะเป็นยาเม็ด
– อาการเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว
อาการหนัก แพทย์ต้องให้ยาใน 48-72 ชั่วโมงของการเจ็บป่วยเพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที
อย่างไรก็ตามควรรักษาร่างกายตั้งแต่แรกเมื่อมีอาการ ว่ามีอาการหรือเปล่า เมื่อมีอาการสามารถรับประทานยา และรีบดื่มน้ำให้มากๆ สามารถเสริมน้ำผลไม้ที่มีวิตามินซี จะช่วยได้มาก ให้นอนพักผ่อนให้มาก ซึ่งเชื้อไวรัสถ้าร่างกายแข็งแรงดีพอและรีบปฏิบัติตัว ดูแลตนเองแต่เนิ่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมารักษาที่โรงพยาบาล หากดูแลตัวเองเบื้องต้น 6-8 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ไข้ยังสูงอยู่ มีอาการมากขึ้น เช่นปวดศีรษะมากขึ้น เจ็บคอมากขึ้น ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย ไปสู่ภาวะการขาดน้ำในร่างกายอาการทั้งหมดนี้ ให้รีบมาพบแพทย์ยังโรงพยาบาล
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
กระทรวงสาธารณสุขแนะนำวัคซีนที่ใช้มานานพอสมควร มาตรฐานในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ เชื้อไข้หวัดใหญ่มีการกลายสายพันธุ์ได้ง่าย เพราะฉะนั้นสายพันธุ์ในแต่ละปีที่ระบาดอาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีการอัพเดทตัวเราเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะกับสายพันธุ์ที่พึ่งระบาดไป
ดังนั้นถ้าเป็นผู้ใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และสำหรับในเด็กเล็กสามารถเริ่มฉีดได้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ถ้าเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 9 ขวบ แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ถ้ายังไม่เคยรับมาก่อน เพื่อเป็นการบูสภูมิคุ้มกัน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บางครั้งไม่เข้ากันกับเชื้อที่กำลังจะมา เนื่องจากว่า กว่าที่จะผลิตวัคซีนในแต่ละครั้ง อย่างเร็วใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ต้องมีการอ้างอิงจากเชื้อเก่า แต่ถ้าปีนี้มีเชื้ออื่นๆ ที่เข้ามาระบาดแล้วไม่เข้ากับวัคซีนที่เราได้รับเข้าไป ทำให้ประสิทธิภาพไม่ได้สูงเหมือนวัคซีนตัวอื่นๆ เพราะว่าความกลายพันธุ์ของสายพันธุ์
ระยะหลัง วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ จะมีวัคซีนที่เรียกว่าไฮโดส เหมือนกับผู้สูงอายุภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จึงมีการเพิ่มตัวที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันขึ้นไป
สำหรับวัคซีน แนะนำให้เช็คสิทธิการรักษาก่อนที่จะมีการเข้ารับวัคซีน ว่าตนเองเป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิที่จะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี สามารถใช้บริการที่โรงพยาบาล ภายใต้สิทธิของตัวเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.ดร.พญ.เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่