14 มิถุนายน ของทุกปี “วันผู้บริจาคโลหิตโลก”

14 มิถุนายน 2567

คณะแพทยศาสตร์


“วันผู้บริจาคโลหิตโลก” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตเอ บีและโอเป็นครั้งแรก และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ ในปี ค.ศ.1930 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก และเป็นวันแห่งการขอบคุณผู้บริจาคโลหิต


สำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากสถานการณ์โลหิตในขณะนี้ค่อนข้างลดลงเนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นช่วงวิกฤตของการรับบริจาคโลหิต เพราะจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงค่อนข้างมาก ในส่วนของการรับบริจาคโลหิตของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ งานธนาคารเลือดจัดเป็นสาขาที่ 2 ของการรับบริจาคโลหิตในจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นหน่วยแรก งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีการรับบริจาคโลหิตทั้งในสถานที่ และนอกสถานที่


สำหรับโลหิตที่ได้รับ จะเตรียมส่วนประกอบของโลหิตชนิดต่างๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบันจำนวนโลหิตที่ได้รับ ยังไม่เพียงพอ สืบเนื่องหลังจากสถานการร์โควิด-19 ตั้งแต่ ปี 2563-2565 และสถานการณ์กลับมาดีขึ้นในปี 2566 แต่เนื่องจากพึ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ใหม่ ทำให้จำนวนผู้บริจาคเพิ่มขึ้น เล็กน้อย ยังไม่ได้มากตามที่ได้รับเดิมก่อนหน้านี้ ซึ่งจากเดิมได้ประมาณ 30,000-32,000 รายต่อปี แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับโลหิตประมาณ 20,000-22,000 รายต่อปี (2563-2565) และในปี 2566 ให้มีการกระตุ้น การบริจาคโลหิตเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 24,000 ยูนิตต่อปี แต่ก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนที่ต้องการประมาณ 30,000-35,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งยังขาดช่วงจากที่ต้องการค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการรณรงค์ให้มีการบริจาคโลหิตในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดี


การบริจาคโลหิตมีอะไรบ้าง
– ลงทะเบียนผู้บริจาคโลหิต ใช้บัตรประชาชนในการลงทะเบียนบริจาคโลหิต
– วัดความดันโลหิตและชีพจร
– ตรวจคัดกรองผู้บริจาคโลหิต ใช้เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของเลือด สามารถทราบค่าเป็นตัวเลขได้
– เจาะเก็บโลหิตด้วยเทคนิคปราศจากเชื้อ
– Sample deversion pouch ลดการปนเปื้อนของแบคทีเรียจากการเจาะเก็บเลือด
– มีการบริจาคโลหิตทั่วไป
– การบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบของโลหิตอัตโนมัติ
– ใช้เครื่องปั่นแยกส่วนประกอบของโลหิตอัตโนมัติ แยกโลหิตออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เม็ดเลือดแดง พลาสมา เกล็ดเลือด
– กรองเม็ดเลือดขาวออกจากถุงโลหิต เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากการเติมโลหิต
– โลหิตที่ได้จะนำไปฉายรังสี เพื่อยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวในถุงบรรจุโลหิต (เช่น ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคเลือด) โดยมีการใช้สติ๊กเกอร์บ่งชี้การฉายรังสี เพื่อยืนยันว่าโลหิตถุงนั้นๆ ผ่านการฉายรังสีแล้ว เพื่อทำลายเม็ดเลือดขาว
– ตรวจหมู่โลหิต และตรวจคัดกรองแอนติบอดี้ด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ
– การตรวจการติดเชื้อที่สามารถถ่ายทอดทางการให้เลือดทุกยูนิต ได้แก่ ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส
– การตรวจระดับสารพันธุกรรมของเชื้อ เพื่อมั่นใจว่าเลือดที่จะนำไปให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
– การทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างโลหิตของผู้ป่วยกับโลหิตของผู้บริจาค
– มีทดสอบความเข้ากันได้ของโลหิตด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่รับโลหิต
– มีระบบตรวจสอบอุณหภูมิของตู้เก็บโลหิตของงานธนาคารเลือดแบบ real time
– มีการพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้อย่างต่อเนื่อง


บริจาคโลหิต 1 ถุง สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง
ห้องปฏิบัติการจะนำโลหิตไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบของโลหิต 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดและพลาสมา ดังนั้นโลหิต 1 ถุงจากท่านจะสามารถนำไปช่วยผู้ป่วยได้ถึง 3 คน โดยเม็ดเลือดแดงจะนำไปใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดหรือเสียเลือด เกล็ดเลือดจะนำไปให้ผู้ป่วยที่เกล็ดเลือดต่ำหรือสูญเสียเลือด และพลาสมาจะนำไปให้ผู้ป่วยที่ขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด


การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต
– นอนหลับให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง
– สุขภาพแข็งแรง พร้อมบริจาคโลหิต
– งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มา 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค
– งดอาหารที่มีไขมันสูงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
– งดสูบบุหรี่มาก่อนบริจาคอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
– ไม่อยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรคบางอย่าง


สามารถบริจาคโลหิตได้ที่ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ??เวลาเปิด-ปิดรับบริจาคโลหิต วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. (ปิดพักเที่ยงวันที่ออกหน่วยรับบริจาคโลหิต) วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. (ปิดพักเที่ยง)


***** ผู้บริจาคโลหิตสามารถจอดรถได้บริเวณข้างอาคารศรีพัฒน์ด้านทิศตะวันออก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โดย เทคนิคการแพทย์หญิงไพรจิตร ตานัน หัวหน้างานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่