คณะวิทยาศาสตร์ มช. จับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ จัดงาน The 5th International Symposium of Benthological Society of Asia: BSA2022 –Sustaining Freshwater Biodiversity and Water Security in Asia เพื่อผลักดันความร่วมมือในการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยทางอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ นิเวศวิทยา และผลกระทบต่อมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งต่อมนุษย์ และความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดพิธีเปิดงาน The 5th International Symposium of Benthological Society of Asia: BSA2022 –Sustaining Freshwater Biodiversity and Water Security in Asia ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจาก Benthological Society of Asia คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชิตชล ผลารักษ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ รศ.ดร.ปรัชญา สมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติร่วมเปิดงาน โดยงานจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภูมิภาคอื่นของทวีปเอเชีย มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในระดับชนิด และระดับพันธุกรรม รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ
ปัจจุบันมีสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ในระดับนานาชาติ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัย รวบรวมความรู้ และผลิตผลงานวิจัยด้านต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ ทั้งในด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นตัวประเมินสถานภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำ และการศึกษาวิจัยที่มีผลต่อสุภาวะของมนุษย์ด้วย
ประกอบกับในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเหล่านี้ จึงเป็นโจทย์ให้นักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ทำวิจัยเพื่อศึกษาทั้งในเชิงสำรวจ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการประยุกต์เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
และด้วยเหตุที่เชียงใหม่เป็นหนึ่งใน hotspot ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และมีงานวิจัยที่ต่อเนื่อง เข้มแข็ง ทางคณะกรรมการบริหารของ Benthological Society of Asia อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย ออสเตรเลีย และประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยทางอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ นิเวศวิทยา และผลกระทบต่อมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดความเห็นระหว่างอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป อันจะก่อเกิดภาคีเครือข่ายทางวิชาการในระดับนานาชาติ ขึ้นต่อไป
ภายในงานมีการบรรยายจากวิทยากร ตลอดจนการนำเสนอผลงานทั้งภาคบรรยายและภาคนิทัศน์ ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน ใน 6 กลุ่มหัวข้อ ได้แก่
1. Freshwater Biomonitoring and Bioassessment
2. Benthos Biodiversity and Conservation
3. Impacts on Community Structure, Function, and Ecology
4. Taxonomy, Systematics, and Evolution
5. Freshwater Science: Method, Perspective & Challenges, and Other General Topics
6. Benthology for Human Health
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://bsa2022.science.cmu.ac.th