นักวิจัยวิทย์ มช. ค้นพบมอสส์ ชนิดใหม่ของโลก

25 มิถุนายน 2564

คณะวิทยาศาสตร์

"มอสส์" อาจเป็นพืชชั้นต่ำที่หลายคนมองข้าม แต่นักวิจัยวิทย์ มช. กลับสนใจศึกษา จนค้นพบ "มอสส์ชนิดใหม่ของโลก" ในบริเวณพื้นที่ปกปักทรัพยากร ณ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน

มอสส์สกุล Koponobryum วงศ์ Pottiaceae เดิมทีมีการกระจายพันธุ์ของสกุลเฉพาะในประเทศอินเดีย (endemic to India) และมีรายงานเพียง 1 ชนิดในโลก คือ Koponobryum bengalense (Gangulee) Arts (Arts, 2001) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีต้นแกมโทไฟต์แยกเพศ (dioicous) คือ เป็นต้นเพศเมียและต้นเพศผู้แยกกัน ใบรูปลิ้นแกมหอก ปลายใบแหลม สีเขียวอ่อนถึงโปร่งใส ฐานใบเป็นติ่งยาว เซลล์กลางใบค่อนข้างกลม มีปุ่มนูนตรงกลางเซลล์ 1 ปุ่มทั้งด้านหลังใบและท้องใบ สร้างสปอร์ทรงกลม มีผิวเรียบ และมีเซลล์ขนที่แกนลำต้น (axillary hairs) ยาวประมาณ 70 ไมโครเมตร ประกอบขึ้นจาก 3 เซลล์ คือเซลล์ที่ฐานสั้นๆ 2 เซลล์ สีน้ำตาล และเซลล์ปลายขนสีใส 1 เซลล์

สำหรับมอสส์ชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้มีชื่อว่า Koponobryum papillosum Printarakul & Chantanaorrapint (Printarakul et al., 2021) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับ K. bengalense เป็นอย่างมาก แต่เมื่อศึกษาทางด้านสัณฐานวิทยาโดยละเอียดแล้วพบว่า มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่างออกไป 3 ลักษณะ คือ 1) ต้นแกมีโทไฟต์มีทั้งเพศเมียและเพศผู้ในต้นเดียวกัน (autoicous) หรือเป็นต้นกะเทย โดยจะสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์เพศเมียที่ปลายยอดและสร้างกิ่งที่สร้างโครงสร้างสืบพันธุ์เพศผู้ด้านข้างลำต้นในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเพศเมียเล็กน้อย 2) สร้างสปอร์ทรงกลม ผิวขรุขระ (จึงเป็นที่มาของคำระบุชนิดว่า papillosum ซึ่งหลายถึง สปอร์มีปุ่มขรุขระ หรือ papillose) และ 3) เซลล์เส้นขนที่แกนลำต้น มีความยาว ประมาณ 75-135 ไมโครเมตร ประกอบขึ้นจาก 2-6 เซลล์ คือ เซลล์ฐานที่สั้นที่สุด 1 เซลล์ มีสีน้ำตาล และ เซลล์ที่ยาวกว่า สีใสอีกจำนวน 1-5 เซลล์ที่ส่วนปลายขน


ปัจจุบันพบการกระจายพันธุ์ของมอสส์ชนิดนี้ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยขึ้นอาศัยบนพื้นดิน ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-700 เมตร ของ จ.เชียงใหม่ (น้ำตกแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม และ ห้วยสบออน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว) และ จ.ลำพูน (ในบริเวณพื้นที่ปกปักทรัพยากร ณ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย)

การศึกษาครั้งนี้ได้รับอนุเคราะห์และความร่วมมือจากทีมสำรวจพืชไบรโอไฟต์ชาวไทยของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ( อ.ดร. นรินทร์ พรินทรากุล, รศ.ดร.อรุโณทัย จำปีทอง, นายอุดร ปงกาวงค์, นางสาวกนลรัตน์ อดุลย์กิตติชัย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์) มหาวิทยาลัยบูรพา (รศ.ดร.เพียงพักตร์ สุขรักษ์) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผศ.ดร.เอกพันธ์ ไกรจักร์) และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการ สกว. และ อพ.สธ.-มช.

เอกสารอ้างอิง
ARTS, T. 2001. A revision of the Splachnobryaceae (Musci). Lindbergia 26: 77-96. https://doi.org/10.2307/20150068 http://www.mobot.org/.../Add/Arts_Splachnobryaceae2001.pdf

PRINTARAKUL N., JAMPEETONG A., PONGKAWONG U., SUKKHARAK P., KRAICHAK E., ADULKITTICHAI K. & CHANTANAORRAPINT S. 2021. Koponobryum papillosum Printarakul & Chantanaorr., sp. nov. (Pottiaceae, Bryophyta), a new moss species from northern Thailand. Cryptogamie, Bryologie 42 (9): 143-148. https://doi.org/10.5252/cryptogamie-bryologie2021v42a9
http://cryptogamie.com/bryologie/42/9


#เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีค่าและมักปริศนาซ่อนอยู่
New moss discovered
in CMU Hariphunchai Centre!!
.
FUN
FUNCTIONAL
FUNDAMENTAL
Science CMU : Be FUN to the Frontier
#SCICMU #BeFUNtotheFrontier

แกลลอรี่