มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ไว...รักษาได้
27 มิถุนายน 2565
คณะแพทยศาสตร์
ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูปเป็นประจำ รับประทานอาหารกากใยน้อย อาหารปิ้งย่าง รมควัน ตลอดจนขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้กระบวนการทำงานของลำไส้ผิดเพี้ยนไป และเกิดปัญหาในระยะยาวในท้ายที่สุด
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่ค่อนข้างพบได้บ่อยไม่ว่าจะเป็นสถิติของทั่วโลกหรือประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยอุบัติการในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะติด 1 ใน 3 ของมะเร็งที่พบบ่อยเสมอ ในผู้ชายจะพบ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ ส่วนในผู้หญิงจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งปอด
ในทั่วโลกพบการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านคนต่อปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกือบปีละ 1 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้หากพบในระยะโรคที่ไม่รุนแรง
หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่มีความยาวประมาณ 1 เมตรกว่า รอบช่องท้อง เป็นส่วนต่อจากลำไส้เล็ก และวิ่งต่อไปยังส่วนของลำไส้ตรงที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน ทำหน้าที่ ดูดกลับน้ำ ดูดซึมวิตามิน กำจัดกากของเสียและสารพิษจากลำไส้เล็ก และสร้างอุจจาระเพื่อขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
ในส่วนของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ ปกติมีผิวเรียบ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ จะเกิดลักษณะติ่งเนื้อเล็กๆขึ้นตามผนังเยื่อบุ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ติ่งนี้จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดลักษณะที่รุนแรงและน่ากลัวมากขึ้น โดยศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Dysplasia หรือการเปลี่ยนแปลงก่อนระยะมะเร็ง จนในท้ายที่สุดจะมีบางตำแหน่งที่เกิดเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น และเริ่มมีการลุกลามเข้าไปผนังของลำไส้ ไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบลำไส้ และแพร่กระจายไปยังจุดต่างๆ ของร่างกายต่อไป
ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยรวมการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เราทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดเพียงบางอย่างที่มีหลักฐานที่ชัดเจนเช่น โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านยีนเด่น ซึ่งพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในสาเหตุอื่นๆ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเพียงแต่คาดว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะมะเร็งลำไส้ใหญ่
-ปัจจัยทางพันธุกรรม
มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
1.ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านยีนเด่น พ่อ-แม่มีโอกาสถ่ายทอดสู่ลูกได้ครึ่งหนึ่ง พบผู้ป่วยในกลุ่มนี้ประมาณ ร้อยละ 5-10 จากผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
2.ถ่ายทอดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดปกติของยีนใด ในกลุ่มนี้มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย พบได้ประมาณร้อยละ 20 จากผู้ป่วยทั้งหมด
-ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม อีกกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ ไม่พบว่ามีประวัติทางครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง กรณีนี้มักพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุค่อนข้างมาก ในกลุ่มเหล่านี้มีปัจจัยที่พอทราบว่าเป็นการกระตุ้นการเกิดมะเร็ง เช่น ภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และปัจจัยบางอย่างเชื่อว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องได้แก่ อาหารที่รับประทาน (ไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง สัตว์เนื้อแดง) สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือออกกำลังกายที่น้อยเกินไป เพียงแต่ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ไม่แน่ชัด ยกตัวอย่างเช่น บางคนทานเจมาทั้งชีวิต ไม่เคยบริโภคเนื้อสัตว์เลย ไม่ทานอาหารปิ้งย่าง ทานแต่ผัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ก็สามารถทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ได้
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
-การขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะปกติเดิม เช่น ท้องผูก ถ่ายบ่อยมากขึ้น อุจจาระเหลว ลำอุจจาระมีลักษณะลีบ
-ภาวะซีด อ่อนเพลีย
-อืดท้อง ปวดท้องเรื้อรัง
-คลำพบก้อนที่ท้อง
-เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
-อุจจาระมีมูกปนเลือด
-ปวดหน่วง อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา ถ่ายอุจจาระไม่สุด
การตรวจหามะเร็งในลำไส้ใหญ่
-การตรวจคัดกรอง ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อหาติ่งเนื้อก่อนจะเติบโตเป็นมะเร็ง แนะนำให้ทำเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมากกว่า 40 ปีหากมีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว
-การส่องเพื่อวินิจฉัยโรค เมื่อมีอาการ มีความผิดปกติของการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีอาการปวดหน่วง ร่วมกับมูกปนเลือด มีอาการปวดท้องเรื้อรัง มีภาวะซีด อ่อนเพลีย มีน้ำหนักลดผิดปกติ
การรักษามะเร็งลำไส้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
-ในมะเร็งระยะเริ่มแรกที่ยังไม่พบการลุกลามออกมาที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบลำไส้ (ระยะที่1-2) การรักษาด้วยการผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลัก
-เมื่อไหร่ก็ตามที่มีส่วนของมะเร็งลุกลามไปย้งต่อมน้ำเหลือง จะถือว่าเป็นระยะที่ 3 หมายความว่าหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาเคมีบำบัด เพื่อป้องการการกลับเป็นซ้ำ แต่ก็ถือว่ามีโอกาสหายขาดจากโรคได้ หากติดตามเกิน 5 ปีแล้วไม่พบการกลับเป็นซ้ำ
-แต่หากเป็นระยะลุกลามแล้ว เช่นมีการแพร่กระจายไปที่ตับที่ปอด (ระยะที่ 4) การรักษาหลัก จะเป็นเรื่องของยาเคมีบำบัดเพื่อควบคุมการแพร่กระจาย ยกเว้นว่ามีปัญหาจากมะเร็งที่เกิดขึ้นเช่น ภาวะลำไส้อุดตัน เลือดออกในทางเดินอาหาร อาจจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดร่วมด้วย ส่วนทางเลือกบางอย่างเช่น การฉายแสง จะรักษาในกรณีที่เป็นลำไส้ตรง อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน
การที่จะรักษาด้วยวิธีไหน ขึ้นอยู่กับระยะโรคและอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ จะเห็นได้ว่ายิ่งระยะโรคมากขึ้น พยากรณ์โรคหรือว่าการกลับเป็นซ้ำจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นแนะนำให้รักษาให้เร็วตั้งแต่ระยะต้นๆ เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งที่พยากรณ์โรคค่อนข้างดี ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการแพร่กระจาย ก็จะมีลักษณะการแพร่กระจายบางอย่างที่กลับมาหายได้
ข้อแนะนำที่สำคัญคือการพบแพทย์เพื่อทำการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อคัดกรองป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือตรวจพบโรคโดยเร็วเพื่อทำการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ส่งผลให้ผลลัพท์ของการรักษาที่ดีขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.นพ.สุวรรณ แสนหมี่ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มะเร็งลำไส้ใหญ่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU