วันพาร์กินสันโลก (WORLD PARKINSON’S DISEASE DAY)

11 เมษายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

ทุกวันที่ 11 เมษายนของทุกปีถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันพาร์กินสันโลก (World Parkinson’s Disease Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อโรค “สั่นสันนิบาต” โดยทั่วไปเรียกว่า โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson disease โดยเฉลี่ยจำนวนประชากรทั่วประเทศไทยมีความชุกของโรคนี้ ร้อยละ 0.24 หรือประมาณ 770,000 ราย โรคนี้พบได้ในผู้สูงอายุบ่อยกว่าวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เมื่อคนเราอายุมากขึ้นสมองจะมีการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ ซึ่งสมองของผู้เป็นโรคจะไม่สามารถกำจัดโปรตีนเหล่านี้ออกไปได้ เมื่อโปรตีนที่ผิดปกติเหล่านี้มีการเกาะบริเวณสมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อมและตาย ส่งผลให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสันจากการขาดสารสื่อประสาทหลายชนิด โดยสารสื่อประสาทเด่นที่ขาดไป คือสารโดปามีน

อาการผู้ป่วยพาร์กินสันที่เด่นชัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ ได้แก่
1. อาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ได้แก่
– สั่น
– เกร็ง
– เคลื่อนไหวช้า
– ล้มง่าย
– หลังค่อม
– เดินติด เดินลำบาก
2. อาการที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว
– ท้องผูก
– จมูกไม่ได้กลิ่น
– นอนละเมอ
– ซึมเศร้า
– ความจำการนึกคิดแย่ลง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่
1. ปัจจัยภายนอก : การใช้สารฆ่าแมลงทางการเกษตร นักมวยผู้มีประวัติการบาดเจ็บทางศีรษะบ่อยครั้งมีความเสี่ยงเช่นกันแต่ความเสี่ยงไม่ชัดเจนมากเท่ากับการใช้สารฆ่าแมลง
2. ปัจจัยภายใน: มีความเสี่ยงเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนความเสี่ยงจากพันธุกรรมโดยตรงเกิดขึ้นน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และในครอบครัวมักจะมีประวัติผู้เป็นโรคพาร์กินสัน ตั้งแต่อายุยังน้อย
การดำเนินของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะต้น : ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ดี ผู้ป่วยได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
2. ระยะกลาง : เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ยาออกฤทธิ์ได้สั้นลง จำเป็นต้องรับประทานยาบ่อยขึ้นจากเดิม มีอาการยุกยิกหรือเคลื่อนไหวขยับไปมามากผิดปกติในบางช่วงเวลา
3. ระยะท้าย : ผู้ป่วยล้มบ่อย ไม่สามารถเดินเองได้ สมองเสื่อม เห็นภาพหลอนบ่อย

แนวทางการรักษาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การรักษาโดยการใช้ยา
– ยาเลโวโดปา
– ยาเสริมโดปามีน
– ยาที่ทำให้โดปามีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
2. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
2.1 การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้แก่
– การออกกำลังกาย (การปั่นจักรยาน การรำไทเก๊ก เดินบนลู่วิ่ง การเต้นแทงโก้)
– การทำกายภาพบำบัด (ฝึกเดิน ฝึกการทรงตัว)
– การทำอรรถบำบัด (ฝึกพูด ฝึกกลืน)
– การทำกิจกรรมบำบัด (ฝึกอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ใช้มือได้คล่อง)
2.2 การรักษาโดยการผ่าตัด
เป็นการรักษาแบบใหม่ ในประเทศไทยมีประมาณ 10 กว่าแห่ง สำหรับภาคเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นที่แรกและที่เดียวที่สามารถผ่าตัดได้ โดยการผ่าตัดแพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ที่ได้รับยาอย่างเหมาะสมแล้วแต่คุมอาการไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการผ่าตัด

ซึ่งการผ่าตัด จะใช้เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกโดยจะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่มีการทำงานผิดปกติ เพื่อลดอาการของโรคพาร์กินสันทั้งสองด้านของร่างกาย เช่น อาการสั่น เกร็ง และการเคลื่อนไหวช้า ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อายุการใช้งานของแบตเตอรี่นี้จะมีอายุประมาณ 3-5 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดแล้วจะสามารถทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับผู้ป่วยได้

ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีมากกว่า 10 ราย และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ถึงแม้ปัจจุบันโรคพาร์กินสันเป็นแล้วจะไม่หายขาดแต่ก็สามารถรักษาได้ ซึ่งแนวทางการรักษามีหลายรูปแบบ หากพบว่าผู้ป่วยรายใดมีอาการเสี่ยง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ยิ่งได้รับการรักษาเร็ว จะดีต่อคุณภาพชีวิตทั้งในตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลผู้ป่วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.ชญาศักดิ์ วันทนียวงค์ อาจารย์ประจำหน่วยวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าคลินิกโรคพาร์กินสัน คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่