“สุขภาพไต สำคัญกว่าที่คิด ดื่มน้ำ พักผ่อน ลดเค็ม เริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้! #รักไตไว้ใช้ยาวๆ” วันไตโลก WORLD KIDNEY DAY วันไตโลก: หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต

13 มีนาคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

ทุกปีในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม เราจะร่วมกันรณรงค์ “วันไตโลก” (World Kidney Day) ซึ่งกำหนดโดย International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology เพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคไตที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17-18% ของประชากร และมีผู้ที่ต้องล้างไตประมาณ 150,000-170,000 คนทั่วประเทศ


ไตสำคัญอย่างไร
ไตทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย รักษาสมดุลของแร่ธาตุและน้ำในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง หากไตทำงานผิดปกติ อาจนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ


ปัจจัยเสี่ยงของโรคไต
โรคไตเรื้อรังมีหลายสาเหตุหลัก ได้แก่:
เบาหวาน (อันดับ 1) ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ไตเสื่อม
ความดันโลหิตสูง (อันดับ 2) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมสภาพ
การใช้ยาแก้ปวด หรือสมุนไพรที่ไม่เหมาะสม พันธุกรรม และวิถีชีวิต เช่น การบริโภคอาหารเค็มเกินไป สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย

การดูแลไตให้แข็งแรง สามารถป้องกันโรคไตได้โดย
• ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 3-4 ลิตร เพื่อช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย
• เลือกรับประทานอาหารสุขภาพ ลดโซเดียม หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและไขมันสูง
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง
• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์
• ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง


โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไต (โดยพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายไป ความจำเป็นในการจำกัดอาหารแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย)


ควรหลีกเลี่ยง
• อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส อาหารแปรรูป
• อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ทุเรียน บล็อกโคลี่ มะเขือเทศ
• อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำอัดลม เครื่องดื่มสีเข้ม
• การบริโภคโปรตีนมากเกินไป แต่ควรเน้นโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ไข่ขาว และเนื้อปลา


ข้อควรรู้เกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ
***“กินเค็มทำให้เป็นโรคไต” จริงๆ แล้วการกินเค็มเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไต
***“มีอาหารบำรุงไต” ไม่มีอาหารที่ช่วยบำรุงไต แต่มีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ไตเสื่อมเร็ว
วันไตโลกเป็นโอกาสสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงของโรคไตและแนวทางป้องกัน ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับองค์กรไตสากลทั่วโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ทุกปี พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการลดการบริโภคเค็ม เพื่อให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น ช่วยลดภาระของโรคไตในระยะยาว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.นพ.ขจรศักดิ์ นพคุณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU #วันไตโลก

แกลลอรี่