มช. เปิดตัว "Matthew" แพลตฟอร์ม Gen AI แห่งอนาคตการศึกษา

10 กุมภาพันธ์ 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

            มช. รุกหน้าเป็นผู้นำด้าน AI เปิดตัว "Matthew" แพลตฟอร์ม Gen AI แห่งอนาคตการศึกษา ใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ GPT-4o ด้วยฟีเจอร์สุดล้ำ Chatbot อัจฉริยะเฉพาะเรื่องในกระบวนวิชา ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ตรงจุด วิเคราะห์และสร้างภาพ & ค้นคว้าวิชาการ อาจารย์กำหนดรายชื่อนักศึกษาเข้าใช้งานได้ พร้อมรูปแบบการเรียนรู้ยุคใหม่อีกมากมาย นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร มช. ใช้ฟรี ไม่มี License โครงการนำร่องเริ่ม ก.ย. 2567 มีผู้ใช้แล้วกว่า 4,000 คน พร้อมขยายผลใช้งานทั้งมหาวิทยาลัย เร็วๆ นี้

           มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการประกาศตนเป็น "AI University" ซึ่งจะบูรณาการ AI เข้ากับทุกมิติของมหาวิทยาลัย ทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยล่าสุด ได้ร่วมกับกับบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (AWS) พัฒนา "Matthew" ปัญญาประดิษฐ์สำหรับด้านการศึกษา ก้าวสำคัญของวงการการศึกษาไทย ยกระดับการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในยุคที่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ แพลตฟอร์มนี้มุ่งเน้นการให้บริการแก่อาจารย์และนักศึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การสร้าง Intelligent Chatbot สำหรับนักศึกษา รวมถึงการสอนนักศึกษาถึงวิธีการการใช้งานเทคโนโลยี AI อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบจริยธรรม ที่พัฒนาโดยกลุ่ม AI Special Interest Group ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการนำร่องระบบ Matthew โดยมีอาจารย์กว่า 100 ท่านและนักศึกษามากกว่า 4,000 คนเข้าร่วมทดลองใช้งานเพลตฟอร์ม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและให้ข้อมูลกับทีมงานในการปรับปรุงการใช้งานจากผลตอบรับที่ดี มหาวิทยาลัยได้วางแผนเปิดตัว “Matthew” ให้กับอาจารย์ทุกคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ และขยายผลไปยังนักศึกษาทุกคนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่

            แพลตฟอร์ม "Matthew" ใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า GPT-4o ที่มีฟีเจอร์เพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต มีการใช้งานเนื้อหาแบบต้นฉบับคล้าย ChatGPT อาทิ สร้าง ChatBot เฉพาะเรื่อง เช่น การสอน กระบวนวิชา ใส่หนังสือหรือบทเรียนลงไป และจำกัดให้บอทตอบเฉพาะเรื่องนั้น ทำให้สามารถกำหนดให้นักศึกษาสามารถใช้งานอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม โดยอาจารย์สามารถกำหนดรายชื่อนักศึกษาที่เข้าใช้งานได้ Manage และปรับแต่งการใช้งานของ Chatbot ที่สร้างได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ ยังสามารถวิเคราะห์รูปภาพ และสร้างภาพจาก DALL-E 3 ค้นหาข้อมูลวิชาการผ่าน Semantic Scholar รวมถึงติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของนักศึกษาได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ภายใต้ความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           สำหรับการเปิดตัว "Matthew" ได้จัดขึ้นในกิจกรรม “AI Learning Day”เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI for Education : The Vision of CMU” พร้อมทั้งประกาศความร่วมมือกับบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (AWS) เพื่อพัฒนาบริการ Generative AI สำหรับการศึกษา ภายใต้ ชื่อ Matthew ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในยุคดิจิทัล โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดีด้านเทคโนโลยีดิจิทัล กล่าวรายงาน อาจารย์ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ กล่าวต้อนรับ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP)

          ความร่วมมือระหว่าง มช. กับ AWS ถือเป็นก้าวสำคัญในการผสมผสานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ AWS เป็นผู้นำเข้ากับบริการ Matthew ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์การศึกษาที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ใช้ ช่วยทีมงานให้พัฒนาความสามารถใหม่ ๆ ให้กับ Matthew ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิ์ภาพ และปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อมั่นว่าการประกาศครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน และมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมไทยในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

แกลลอรี่