"SMART MATERIAL" นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมพัฒนาวัสดุฉลาดจากพลาสติกชีวภาพ เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้โดยการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า

9 มิถุนายน 2565

คณะวิทยาศาสตร์

      นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมพัฒนาวัสดุฉลาด (SMART MATERIAL) จากพลาสติกชีวภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้โดยการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า นำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งกล้ามเนื้อเทียม วัสดุควบคุมในหุ่นยนต์ เช่น วาล์วไฮดรอลิก และปั๊มขนาดจิ๋ว 

         ศ.ดร.อนุวัฒน์ ศิริวัฒน์ และ ดร.ณัฏฐ์ลิตา ธรรมรังสรรค์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ผศ.ดร.ดรรชนี พัทธวรากร ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนาวัสดุพลาสติกชีวภาพที่สามารถตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าได้ เพื่อประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์แอกชูเอเตอร์ เช่น กล้ามเนื้อเทียม ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ โดยใช้พลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแลกติกแอซิดเป็นฐาน และเติมสารตัวเติมฟลูลิรีน (C60) เพื่อเพิ่มสมบัติการนำไฟฟ้าให้แก่วัสดุคอมพอสิต ภายใต้หัวข้อวิจัย Electrically responsive materials based on dibutyl phathalate plasticized poly(lactic acid) and spherical fullerene

ผลการวิจัยพบว่าวัสดุคอมพอสิตที่เตรียมได้สามารถตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยแสดงการตอบสนองในลักษณะการโค้งงอภายใต้การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า ระดับการตอบสนองสามารถควบคุมได้ด้วยความแรงกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้วัสดุคอมพอสิตยังสามารถเกิดการผันกลับได้โดยกลับสู่สภาวะเดิมเมื่อหยุดให้กระแสไฟฟ้า และสามารถตอบสนองซ้ำไปมาได้โดยวัสดุไม่เกิดความเสียหาย

วัสดุฉลาด (Smart material) เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น มีรูปร่าง ขนาด หรือสีเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ หรือมีแรงเคลื่อนไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อมีความเค้น เป็นต้น ผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยนี้ คือ การพัฒนาวัสดุฉลาดจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าได้ โดยแสดงการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเมื่ออยู่ภายใต้กระแสไฟฟ้าและกลับสู่สภาพเดิมเมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้สามารถนำวัสดุนี้ไปประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อเทียม วัสดุควบคุมในหุ่นยนต์ เช่น วาล์วไฮดรอลิก ปั๊มขนาดจิ๋ว

งานวิจัยนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ SO5 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Platform) และสอดคล้องกับ SDGs 9: Industry, Innovation and Infrastructure (product innovation and R&D investment) ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในงานด้านวัสดุขั้นสูงด้านการแพทย์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้

งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Smart Materials and Structures : Q1 ISI/Scopus, Impact Factor (2021) 3.585

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://doi.org/10.1088/1361-665X/ac5013

Thummarungsan L., Pattavarakorn D. and Sirivat A., Electrically responsive materials based on dibutyl phathalate plasticized poly(lactic acid) and spherical fullerene, Smart Materials and Structures (2022), 31 035029 (9pp).




CR. photo unsplash

แกลลอรี่