ทีมแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.ปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จ สร้างศักยภาพทางการแพทย์ เทียบชั้นระดับโลก

28 พฤศจิกายน 2565

คณะแพทยศาสตร์


ทีมแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. โดยความร่วมมือระหว่างภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จ หลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน และสามารถกลับบ้านได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ นับเป็นแนวทางการรักษา สร้างศักยภาพเทียบชั้น การแพทย์ระดับโลก

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึง เคสการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จว่า “นับว่าเป็นเคสแรก ที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ป่วยได้รับการดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (คณะแพทย์ มช.) เป็นอย่างดี นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ,รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี ,ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ รศ.ดร.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล ประธาน clinical lead team เบาหวาน และรศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. พร้อมบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชา โดยความสำเร็จของการรักษาในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ซับซ้อนของโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชาที่ร่วมกันให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ”

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่หายจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภายหลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน เนื่องจากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่ได้รับการตอบสนองต่อการฉีดอินซูลินชนิดเข้าใต้ผิวหนัง แนวทางการรักษาภาวะดังกล่าวได้แก่ การใช้อินซูลินปั๊ม การให้ยาทางช่องท้อง ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องได้รับอินซูลินเข้าทางหลอดเลือดดำใหญ่อย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลรวมระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ไม่สามารถกลับบ้านได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือดทุก 2-3 สัปดาห์ บางครั้งติดเชื้อรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตผู้ป่วย(ICU) นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหลายชนิด เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จึงเป็นข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น “สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนนั้น เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ ให้หายขาดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย นอกจากนี้การเลือกตับอ่อนจากผู้บริจาคสมองตายนั้น ยังมีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายตับ หรือไต โดยต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของอวัยวะ และกรุ๊ปเลือด รวมถึงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาค รวมทั้งลักษณะของตับอ่อนที่นำมาใช้ ต้องไม่มีการบาดเจ็บและไขมันมากจนเกินไป ดังนั้นจากสถิติของสภากาชาดพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายตับอ่อนอย่างเดียวเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นความสำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยเมื่อ พยาบาลได้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแจ้งว่า มีผู้บริจาคอวัยวะที่เหมาะสม ทางทีมการรักษาและผ่าตัด ได้เตรียมความพร้อม และทำการผ่าตัดตับอ่อนออกมาเพื่อทำการปลูกถ่าย ให้ผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หลังจากผู้ป่วยพักฟื้นในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดี พบว่าภายหลังการปลูกถ่ายตับอ่อน ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องใช้อินซูลินและสามารถกลับบ้านได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ได้กล่าวถึงความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มช. ในปีที่ผ่านมาว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ณ เวลานี้ ทีมคณาจารย์ หน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการแพทย์เพียงแห่งเดียว ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเพื่อรักษาผู้ป่วยผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิต เพื่อแก้ปัญหาการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการบริจาคน้อย รวมทั้งยังสามารถทำการผ่าตัดในผู้บริจาคตับ โดยใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคตับดีขึ้น ดังนั้นนับเป็นความสำเร็จถึงศักยภาพทางการแพทย์ ของทีมแพทย์ ที่เทียบชั้นระดับโลกได้เลยทีเดียว”

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แกลลอรี่