นักวิจัยวิทย์ มช. พบไม้ดอกกลิ่นหอม เหลืองปิยะรัตน์ พืชชนิดใหม่ของโลกที่หายากในนราธิวาส พร้อมไขข้อสงสัยทำไมจึงคล้ายกับพืชท้องถิ่นที่พบได้บ่อย

26 ตุลาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์



         หลังจากค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลมหาพรหม ซึ่งได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” เมื่อปี 2562 ล่าสุดนักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวฉัตรธิดา วิยา (สาขาวิชาชีววิทยา) และนางสาวอานิสรา ดำทองดี (สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์) พร้อมทั้งนายนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ ได้ร่วมกันศึกษาตัวอย่างพืชจากอำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 1 ชนิด คือ เหลืองปิยะรัตน์

เหลืองปิยะรัตน์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaeanthuspiyae Wiya, Aongyong & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิจัยอาวุโส ผู้ริเริ่มการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Taiwania ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้าที่ 509-516 พ.ศ. 2564 โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เหลืองปิยะรัตน์มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีก้านดอกยาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดเล็กคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีสีม่วงอมน้ำตาล ดอกมีกลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมื่อสุกสีแดงสด จากการสำรวจพบเหลืองปิยะรัตน์เพียงไม่กี่ต้นในหย่อมป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางจนสูญพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา นอกจากเหลืองปิยะรัตน์แล้ว ในประเทศไทยยังพบพืชสกุล Phaeanthus อีก 1 ชนิด คือ หัวลิง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaeanthus lucidus Oliv. โดยพบที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา

“เหลืองปิยะรัตน์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้พบว่าผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชสกุล Phaeanthus ชนิดอื่น ๆ เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคตา ดังนั้นอาจพัฒนาเหลืองปิยะรัตน์เป็นพืชสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาต่อไป”

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู เพิ่มเติม อาจารย์ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการวิจัยจนค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้ว่า เริ่มต้นจากการที่ผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นชาวบ้านท้องถิ่นในจังหวัดนราธิวาสที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องของพืช ได้เดินป่าและพบไม้ดอกชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะแปลกตา จึงได้นำส่งทีมวิจัย ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นพืชชนิดใด

หลังจากทีมวิจัยได้ทำการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งทางด้านสัณฐานวิทยา คือการวิเคราะห์ลักษณะภายนอก และการศึกษาวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุล หรือ DNA ก็พบกว่า พืชชนิดนี้มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับชนิดที่พบในมาเลเซีย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลพืชทั่วโลกโดยละเอียดแล้ว กลับไม่มีลักษณะตรงกับพืชชนิดใดเลย จึงสรุปได้ว่า พืชชนิดนี้ เป็นพืชชนิดใหม่ที่มีการค้นพบ และรายงานเป็นครั้งแรกของโลก

อย่างไรก็ตาม การระบุว่า ‘เหลืองปิยะรัตน์’ เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดนี้เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เค้าเกิดและอยู่คู่โลกใบนี้มานานนับล้านๆ ปี แล้ว เพียงแต่เพิ่งมีการนำมาศึกษาอย่างละเอียด ตั้งชื่อ และรายงานอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกของโลก โดยการศึกษาต้องใช้เวลานานนับปี และผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มีการส่งผลงานตีพิมพ์ และรีวิวอย่างเข้มข้นตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ‘เหลืองปิยะรัตน์’ เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ‘เหลืองปิยะรัตน์’ อาจมีความคล้ายคลึงกับพืชท้องถิ่นหลายชนิดที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในประเทศไทย เช่น หมากผีผวน นมแมว หรือบักต้องแล่ง เนื่องจากพืชกลุ่มนี้อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์กระดังงา แต่อยู่คนละสกุล จึงมีลักษณะที่ทั้งเหมือนกันและต่างกัน หากไม่ได้มีการศึกษาโดยละเอียดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ หรือศึกษาลงลึกไปถึง DNA อาจจะแยกความแตกต่างได้ยาก สำหรับ ‘เหลืองปิยะรัตน์’ ปัจจุบันพบแค่ที่ อำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น ไม่มีการรายงาการค้นพบในจังหวัดอื่น หรือในต่างประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะนักอนุกรมวิธาน รู้สึกยินดีและปลื้มใจทุกครั้ง ที่มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ๆ บนโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าบ้านเรายังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เพราะต้นไม้ทุกต้น ไม่ว่าจะมีการตั้งชื่อ หรือถูกค้นพบหรือไม่ ก็ล้วนมีผลเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ และสร้างประโยชน์มากมายให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยลดโลกร้อน เป็นอาหาร หรือเป็นยา

ขณะนี้ ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนักวิจัยหลายท่านที่กำลังศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทั้งพืชและสัตว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใบนี้ ให้คงอยู่ไปชั่วลูกหลาน

ภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 
แกลลอรี่