พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ร่วมฟื้นคืนลมหายใจให้ “มรดกทางวัฒนธรรมล้านนา”

1 มิถุนายน 2565
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์

        ตามที่ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (ผศ.วิลาวัณย์ เศวตเศรนี) ผู้ส่งเสนอชื่อพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น บัดนี้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อย และได้รับการพิจารณาผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล มรดกทางสถาปัตยกรรม ชุมชน บุคคล หรือองค์กร ในระดับดี และกำหนดที่จะมีพิธีพระราชทานรางวัล โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี พ.ศ 2566  ทั้งนี้จะแจ้งรายละเอียดในภายหลังต่อไป

        สำหรับพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นสถาปัตยกรรมในพื้นถิ่นลักษณะความสมบูรณ์ที่คงเหลืออยู่ โดยย้ายจากที่ตั้งเดิมเพื่อมาอนุรักษ์ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ดูแลซ่อมแซมด้วยเทคนิคฝีมือช่างด้วยวิธีดั้งเดิมโดยผู้เชี่ยวชาญ และจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านสถาปัตยกรรมล้านนา เปิดโอกาสให้นักศึกษาและสาธารณชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น ร่วมเรียนรู้ผ่านการ workshop ทั้งในรูปแบบ onsite และ online เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ สามารถนำไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่

        ทั้งนี้ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2528 ภายใต้วิสัยทัศน์ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนากลางแจ้ง เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมล้านนา เพื่อสังคมที่สร้างสรรค์และยั่งยืน โดยมีพันธกิจทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และสร้างรากฐานสู่ล้านนาสร้างสรรค์อย่างมีอัตลักษณ์ พร้อมให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ปัจจุบันรวบรวมเรือนโบราณประเภทต่าง ๆ จำนวน 10 หลัง อันได้แก่ เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์), เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด), เรือนกาแล (อุ๊ยผัด), เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว), เรือนกาแล (พญาวงศ์), เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา), เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร), เรือนพื้นถิ่นแม่แตง และเรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง และยุ้งข้าวจำนวน 4 หลัง อันได้แก่ ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์ (เลาหวัฒน์), ยุ้งข้าวสารภี, ยุ้งข้าวป่าซาง (นันทขว้าง) และยุ้งข้าวเปลือย ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 9 ไร่ โดยเรือนโบราณแต่ละหลังนั้นมีที่มาและประวัติของตนเอง นับเป็นมรดกของชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และพร้อมกับเป็นแหล่งการศึกษาภูมิปัญญาเชิงช่างในอดีตอีกด้วย

       การปลุกจิตสำนึกให้คนท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม เป็นการต่อลมหายใจให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่คู่กับสังคมไปได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงมีเป้าประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตชีวาของกิจกรรมทางด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมและสร้างรากฐานสู่ล้านนาสร้างสรรค์อย่างมีอัตลักษณ์ ส่งต่อคุณค่าความดีงามของมรดกทางสังคมไปจนถึงคนรุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

แกลลอรี่