นักวิจัยวิทย์ มช. พบ กระดังงา 5 ชนิดใหม่ของโลก สวยงาม หายาก และใกล้สูญพันธุ์

15 กันยายน 2564

คณะวิทยาศาสตร์

              คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมด้วย น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ น.ส.ชนิตา อยู่สุขขี และนายเอกพล โพธิขวัญ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการสอนชีววิทยา น.ส.หทัยชนก จงสุข นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีววิทยา และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ค้นพบและตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก วงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 5 ชนิด คือ

  • ต่างหูคลองเงิน (Orophea sichaikhanii Damth., Aongyong & Chaowasku) พบที่จังหวัดระนอง
  • กระเช้าเขาสก (Pseuduvaria khaosokensis Yoosukkee & Chaowasku) พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • แสดทักษิณา (Winitia thailandana Chaowasku & Aongyong) พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • บุหรงฮาลาบาลา (Dasymaschalon halabalanum Jongsook & Chaowasku) พบที่จังหวัดนราธิวาส
  • และการเวกกลีบเรียว (Artabotrys angustipetalus Photikwan & Chaowasku) พบที่จังหวัดกาญจนบุรี


โดยพืชทั้ง 5 ชนิดได้ถูกตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ คือ Plant Ecology and Evolution, Annales Botanici Fennici, European Journal of Taxonomy, Phytotaxa และ Willdenowia ตามลำดับ

    


    


พืชทั้ง 5 ชนิดนี้เป็นพืชหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน อีกทั้งควรศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นพืชสมุนไพรและพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ พบว่ากระเช้าเขาสกและแสดทักษิณามีดอกสีสันสวยสด ในขณะที่ต่างหูคลองเงินมีดอกรูปร่างน่ารักคล้ายต่างหู ส่วนบุหรงฮาลาบาลามีดอกขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร และการเวกกลีบเรียวมีดอกกลิ่นหอมแรง สามารถปลูกเป็นไม้เลื้อยทำซุ้มให้ร่มเงาได้

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยังมีสิ่งที่มีชีวิตที่รอการค้นพบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาความหลายหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในระดับชนิด ยีน หรือระบบนิเวศ ปัจจุบันยังขาดแคลนนักอนุกรมวิธานอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน นักอนุกรมวิธานที่ทำงานอยู่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เปราะบางอาจสูญพันธุ์ก่อนการถูกค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

อ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Orophea sichaikhanii (Annonaceae), a new species from southern Thailand, with a key to the species of Orophea in Thailand and notes on some species
https://doi.org/10.5091/plecevo.2021.1780

Pseuduvaria khaosokensis (Annonaceae), a New Species from Southern Thailand as Evidenced by Plastid Phylogeny and Morphology
https://doi.org/10.5735/085.058.0109

Generic status of Winitia (Annonaceae, Miliuseae) reaffirmed by molecular phylogenetic analysis, including a new species and a new combination from Thailand
https://doi.org/10.5852/ejt.2020.659

The non-monophyly of Dasymaschalon dasymaschalum (Annonaceae) revealed by a plastid DNA phylogeny, with D. halabalanum sp. nov. from Thailand and D. argenteum comb. nov.
https://doi.org/10.11646/phytotaxa.449.3.5

Artabotrys angustipetalus (Annonaceae), a new species from Thailand, including a plastid phylogeny and character evolutionary analyses of thorn occurrence in Artabotrys
https://doi.org/10.3372/wi.51.51106




แกลลอรี่