“นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ค้นพบวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง”

14 กรกฎาคม 2564

คณะวิทยาศาสตร์

กลุ่มวิจัยของ ผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร ค้นพบวิธีใหม่ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่มองเห็นได้ และได้ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ Journal of Colloid and Interface Science ที่มี Impact Factor 2020: 8.128 (Q1) ISI/Scopus

การเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์สารอินทรีย์มูลค่าสูงด้วยการควบคุมระนาบผลึกของตัวเร่งปฏิกิริยา

         ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงบิสมัทวานาเดตถูกใช้อย่างแพร่หลายในการย่อยสลายสารอินทรีย์มลพิษและการผลิตแก๊สไฮโดรเจนจากน้ำ ในขณะที่การประยุกต์ใช้งานของตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดนี้ในปฏิกิริยาการสังเคราะห์สารอินทรีย์มูลค่าสูงภายใต้กระบวนการกระตุ้นด้วยแสงยังมีไม่มากนัก อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างระนาบผลึกที่ปรากฏบนพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยากับประสิทธิภาพการเร่งปฏิกิริยาของวัสดุ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา

กลุ่มวิจัยจากภาควิชาเคมี และศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ของผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร นางสาวศดานันท์ บูชาเกียรติ นักศึกษาระดับปริญญาเอก ทุนโครงการเรียนดีวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมกันศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระนาบผลึกที่ปรากฏบนพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยาบิสมัทวานาเดตกับประสิทธิภาพการสังเคราะห์สารประกอบอิมมีนจากเอมีนภายใต้การกระตุ้นด้วยแสงวิซิเบิล ซึ่งยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน โดยได้รายงานผลการค้นคว้าดังกล่าวในวารสาร Journal of Colloid and Interface Science เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการทดลองบ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพการสังเคราะห์สารประกอบอิมมีนแปรผันตรงกับปริมาณระนาบ {110} ที่ปรากฏบนพื้นผิวบิสมัทวานาเดต อีกทั้งการเติบโตของผลึกบิสมัทวานาเดตในทิศทาง {001} ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแยกกันของคู่อิเล็กตรอน-โฮล (electron-hole separation) ส่งผลให้บิสมัทวานาเดตสามารถเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์สารประกอบอิมมีนได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างเชิงลึกและประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาจะเป็นกุญแจสำคัญในการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพเพื่อสังเคราะห์สารอินทรีย์มูลค่าสูงในอนาคต

ที่ผ่านมา ผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร ยังได้รับทุนวิจัย "ทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2564" จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยทุนวิจัยดังกล่าวมุ่งสนับสนุนนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงให้ได้ทำวิจัยอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพและความถนัดที่มีอยู่ เพื่อผลิตผลงานที่มีศักยภาพเชิงวิชาการ หรือผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Boochakiat, S., Tantraviwat, D., Thongsook, O., Pornsuwan, S., Nattestad, A., Chen, J., Channei, D., Inceesungvorn, B. Effect of exposed facets of bismuth vanadate, controlled by ethanolamine, on oxidative coupling of primary amines Journal of Colloid and Interface Science 2021, 602, 168-176 (https://doi.org/10.1016/j.jcis.2021.05.178)

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG9

แกลลอรี่