เช็คสัญญาณเตือน“วัยทอง” อายุน้อยก็เป็นได้
วัยทองคืออะไร?
วัยทอง หรือ วัยหมดระดู เป็นภาวะที่รังไข่เริ่มผลิตฮอร์โมนลดลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น มดลูก กระดูก หลอดเลือด และสมอง ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักเข้าสู่วัยทองในช่วงอายุ 49-51 ปี และอาจมีอาการนำมาก่อน 4-8 ปี โดยแพทย์จะวินิจฉัยเมื่อไม่มีประจำเดือนอย่างน้อย 12 เดือน
ปัจจัยที่ทำให้เข้าสู่วัยทองเร็วขึ้น
• การสูบบุหรี่
• ภาวะทุพโภชนาการ
• รูปร่างผอมบาง
• การผ่าตัดอุ้งเชิงกราน ที่รบกวนเส้นเลือดไปเลี้ยงรังไข่ เช่น การตัดมดลูก
• พันธุกรรม
การเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้
• ประจำเดือนมาผิดปกติ
• อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก และหนาวสั่นทันทีหลังจากนั้น
• อารมณ์แปรปรวน ความจำลดลง
• อาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะลำบากหรือบ่อยขึ้น
ผลกระทบระยะยาว
• เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
• มวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลง เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
• ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ
การดูแลสุขภาพในวัยทอง
• รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
• รับประทานแคลเซียม 800-1000 มก./วัน และวิตามินดี 600-800 IU/วัน
• ลดโซเดียม ไม่เกิน 2400 มก./วัน
• รับประทานโปรตีน 1-1.2 กรัม/กก.ของน้ำหนักตัว/วัน
• หลีกเลี่ยง อาหารเค็ม ชา กาแฟมากเกินไป
• งดสุราและบุหรี่
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นออกกำลังกายแบบ Weight Bearing หรือ Resistance Training
• หลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีกิจกรรมผ่อนคลาย ลดความเครียด
• ตรวจสุขภาพประจำปี และคัดกรองมะเร็ง
แหล่งอาหารที่แนะนำ
• แคลเซียม: ถั่ว เต้าหู้ เมล็ดงาดำ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย กุ้ง
• วิตามินดี: ไข่ นม ปลา
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (อายุน้อยก็เป็นได้)
เป็นภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงกว่าวัยทองตามธรรมชาติ โดยอาการและผลกระทบจะรุนแรงและยาวนานกว่า ปัจจุบันพบมากขึ้นถึง 3% จากเดิมที่พบเพียง 1%
สาเหตุของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
• โรคทางพันธุกรรม
• ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านร่างกายตนเอง
• การติดเชื้อ เช่น คางทูม
• สารพิษบางอย่าง
• ผลข้างเคียงจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น เคมีบำบัด การฉายรังสีที่อุ้งเชิงกราน หรือการผ่าตัดมดลูก
การรักษาภาวะวัยทอง สามารถรักษาได้ด้วยฮอร์โมน (MHT) ตามข้อบ่งชี้ซึ่งต้องได้รับการประเมินและดูแลจากแพทย์ ช่วยบรรเทาอาการ เพิ่มมวลกระดูก และปรับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน การรักษารังไข่เสื่อมก่อนวัย การใช้ฮอร์โมนทดแทนนั้นมีประโยชน์ทั้งทางด้านรักษาและป้องกัน
วัยทองและภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยสามารถจัดการได้ หากได้รับการดูแลที่เหมาะสม การดูแลสุขภาพด้วยโภชนาการที่ดี ออกกำลังกาย และลดปัจจัยเสี่ยง จะช่วยให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ณัฐพัชร์ จันทรสกา อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU #วัยทอง