วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) โดยมีคำขวัญประจำปี 2566 คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”
รศ.พญ.สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ปัญหาจากการสูบบุหรี่ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชนไทย ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยมีการเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะความนิยมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ดึงดูดความสนใจ หาได้ซื้อง่าย ทั้งยังมีความแปลกใหม่ และแตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูบหน้าใหม่ในช่วงอายุ 15 – 24 ปี มีสัดส่วนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุดในทุกช่วงอายุ โดยพบมากถึงร้อยละ 13.1 ด้วยเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบธรรมดา จึงทำให้มีผลต่อการตัดสินใจลองบุหรี่ไฟฟ้า และจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พบว่า เยาวชนที่ติดบุหรี่ในเขตภาคเหนือมีสัดส่วนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด ในจำนวนนี้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง ร้อยละ 3.81 ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี และ ร้อยละ 4.48 ในกลุ่มอายุ 20-24 ปี ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เยาวชนในภาคใต้มีสัดส่วนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ร้อยละ 0.09 และ 1.68 ในเยาวชนอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี ตามลำดับ จะเห็นว่าแนวโน้มของอายุที่เริ่มสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนไทยมีอายุน้อยลง ที่น่าห่วงคือ มีงานวิจัยพิษภัยของบุหรี่ดังกล่าวว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลไกธรรมชาติของร่างกายเองขับออกมาได้ยาก”
เลิกบุหรี่ดีอย่างไร ?
ด้านสุขภาพ
เพียงแค่หยุดสูบบุหรี่ 20 นาที ก็จะรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้แล้ว เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตกลับคืนสู่ระดับปกติ หยุดสูบ 24 ชั่วโมง ปอดจะเริ่มขจัดเสมหะได้ดีขึ้น 72 ชั่วโมงจะหายใจคล่องขึ้น ต่อมาอาการไอและปัญหาในระบบทางเดินหายใจลดลง การทำงานของปอด ระบบหมุนเวียนของร่างกายจะดีขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆลดน้อยลง และเมื่อหยุดสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต
ด้านสังคม
หากสูบบุหรี่ที่มีควัน ควันบุหรี่มือสอง ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ จะทำให้คนรอบข้าง รวมถึงคนที่คุณรัก สูดดมเข้าไปและได้รับสารพิษตามไปด้วย นอกจากนี้การเลิกบุหรี่จะทำให้ภาพลักษณ์และบุคลิกดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย มีเงินเก็บที่มากขึ้นอย่างแน่นอน
ความยากของการเลิกบุหรี่อยู่ที่การเอาชนะใจตัวเอง และต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และเมื่อตั้งใจเลิกแล้วให้ลงมืออย่ารีรอ และเมื่อเลิกได้ต้องไม่กลับไปลองซ้ำ
อยากเลิกบุหรี่ ใครช่วยได้บ้าง ?
ในบางรายนั้น สามารถเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง คือการหยุดสูบทันทีหรือที่เรียกว่าการ "หักดิบ" แต่ถ้ายังเลิกไม่ได้ให้
หาที่ปรึกษา หรือคนใกล้ชิดให้เขารับรู้ถึงเป้าหมายในการเลิกบุหรี่ของเรา เพื่อช่วยให้กำลังใจ และเป็นแรงสนับสนุนในระหว่างที่คุณตั้งใจเลิกบุหรี่ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คลินิกเลิกบุหรี่ โครงการสวนดอกปลอดบุหรี่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-93-5755
การเลิกบุหรี่ไม่มีคำว่าสายเกินไป ทุกคนสามารถทำได้ทุกเมื่อ ขอเพียงเมื่อตัดสินใจแล้วให้ลงมือทำอย่างจริงจัง มุ่งมั่น และไม่หวั่นไหว สร้างแรงจูงใจเพื่อให้รู้ว่าที่อยากเลิกบุหรี่นั้นเพราะอะไร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดี หรือเพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงก็ตาม และทุกครั้งที่ท้อให้กลับไปนึกถึงเป้าหมายเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองกลับมาสู้อีกครั้ง
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังเริ่มต้นเลิกบุหรี่ให้ได้ เพื่อชีวิตใหม่ของคุณและคนที่คุณรัก
ข้อมูลโดย รศ.พญ.สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงใหม่
เรียบเรียง : นส.ธัญญลักษณ์ สดสวย
#วันงดสูบบุหรี่โลก #เลิกบุหรี่ #เลิกบุหรี่ไฟฟ้า
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU