มช. มุ่งนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง รุกทำวิจัยสารสกัด “เซซามิน” เพิ่ม

24 ธันวาคม 2561

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

อธิการบดี มช.ส่งเสริมนโยบายผลักดันงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ด้านนักวิชาการ มช.ผู้คิดค้นเทคโนโลยีการสกัด”เซซามิน”พบว่าสารสกัดนี้มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของข้อเข่า และช่วยสร้างสมดุลภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภาคเอกชนที่ได้รับสิทธิในเทคโนโลยีนี้ สามารถทำรายได้ถึง300ล้านบาท ในช่วง6ปีที่ผ่านมา และได้มอบค่าสิทธิฯให้มช.เป็นมูลค่าสะสมกว่า11ล้านบาท

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)ประธานในการแถลงข่าวและรับมอบค่าสิทธิเทคโนโลยี(Royalty Fee)ปี 2560จำนวน 3,300,000 บาท จากสารสกัดเซซามีน (วันที่26 ตุลาคม 2561 )ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิศาลวาจา มช.กล่าวว่า แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย ของ มช.ระยะที่ 12 ตั้งแต่พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564 มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยเชิงรุกใน 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน(Environment and Energy )ด้านอาหารและสุขภาพ(Food and Health )และ ด้านนวัตกรรมล้านนา(Lanna Innovation )ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัย เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีกลไกสนับสนุนงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งเน้นการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยในเชิงบูรณาการและตอบโจทย์ตามความต้องการของภาคเอกชนและสังคมมากขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลายสหสาขาวิชา มีกลไกการประเมินศักยภาพในการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ กระบวนการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฏหมาย การพัฒนาผลงานวิจัยให้พร้อมสำหรับส่งต่อไปยังภาคเอกชน หรือใช้ประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ โดยผ่านหน่วยงานสนับสนุนภายในที่ช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ ส่วนงานวิจัยรับใช้สังคม และล่าสุดมหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง Angkaew Holding Company เพื่อร่วมทุนและสนับสนุนธุรกิจ Start-ups หรือ Spin-offs ที่ใช้นวัตกรรมหรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ” ในส่วนของสารสกัดเซซามีน(Sesamin Extraction )นั้น เป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ สังกัดภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ศึกษาและวิจัยงานเกี่ยวกับเซซามินและยื่นคำขอรับความคุ้มครองทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตและจำหน่าย ในปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งภาคเอกชนสามารถทำรายได้ถึง300ล้านบาท และจ่ายตอบแทนให้มช.กว่า11ล้านบาท สำหรับแผนการวิจัยเรื่องเซซามินต่อไปในอนาคตนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา กล่าวว่าจะศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในเชิงลึกที่มากขึ้นอาทิ กลไกในการยับยั้งโรคมะเร็ง การส่งผลต่อเซลล์ประสาท และการเสริมภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย กอร์ปกับ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีในท้องตลาดให้มีคุณสมบัติในการเสริมอาหารที่ดีขึ้นและมีความหลากหลายด้วยการหาสารออกฤทธิ์จากสารสกัดเมล็ดส้ม มะนาว นำมาเสริมกับผลิตภัณฑ์เซซามินที่มีในปัจจุบัน อนึ่ง เซซามิน เป็นสารลิกแนน ชนิดหนึ่งในงาดำที่มีปริมาณมากที่สุด ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติในการช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยลดอนุมูลอิสระและต้านอนุมูลอิสระสูง และจากงานวิจัยพบว่าสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยป้องกันและยับยั้งการทำงานของ สารที่มีชื่อว่า อินเตอร์ลิวคินน-1 เบต้า ซึ่งเป็นตัวเร่งและกระตุ้นให้เกิดการทำลายเส้นใยคอลลาเจนและสารชีวโมเลกุลต่าง ๆ ของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบได้

หมายเหตุ: เรียบเรียงข่าวโดย รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ ที่ปรึกษาอธิการบดี

ไฟล์แนบ
แกลลอรี่