มะเร็งลำไส้และทวารหนักพบมากเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทยและทั่วโลกในปี 2560 – 2561และคาดว่าแต่ละปีจะมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 11,500 ราย และนอกจากนี้ยังพบอีกว่าระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่า ทั้งเพศหญิงและชายแพทย์ย้ำมะเร็งลำไส้ระยะที่ 1 -2 สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากคัดกรองและพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง หลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ได้แก่ 1.การมีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน 2.การมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ 3.การมีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง 4.เคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมาก่อน
ภาวะเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถสังเกตตัวเองได้หากมีอาการ ดังนี้ 1.ท้องเสียสลับท้องผูก รู้สึกถ่ายไม่สุด 2.อุจจาระเป็นเลือดปน เป็นๆหายๆเกิน 2 สัปดาห์ 3.ลักษณะอุจจาระเรียวยาวผิดปกติ 4.คลื่นไส้อาเจียน 5.น้ำหนักลด เบื่ออาหาร 6.รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา7.คลำพบก้อนเนื้อในทวารหนัก 8.มีอาการซีดโลหิตจาง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ 1. ตรวจอุจจาระ โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ และตรวจหาดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งหรือติ่งเนื้อ 2. การตรวจด้วยภาพ โดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาพเสมือนจริง การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
ในส่วนการรักษามีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดวิธีการรักษาของแพทย์ที่สำคัญ คือ ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะและการแพร่กระจายของโรค การกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์สามารถรักษาด้วยหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด ,การให้ยาเคมีบำบัด,การใช้รังสีรักษา และการให้ยารักษาตรงจุดมะเร็ง
ข้อมูลโดยรศ.นพ.ธเนศ ชิตาพนารักษ์ อาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดตามรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/1460379727488261/https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/1460379727488261/