“ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” โดยเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ

6 ตุลาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 12 บนพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และภายใต้สถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงนำมาสู่แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่12 (พ.ศ.2560-2564) ปรับปรุงปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการปรับวิสัยทัศน์เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่ยังคงกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ 7 ด้าน เช่นเดียวกับแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 12 ต้นแผน


สำหรับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในพันธกิจเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนมากกว่า 55 ปี ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในหลายโครงการ เช่น การขยายผลข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0 โดยเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ โดยทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พัฒนานวัตกรรมเครื่องเร่งอนุภาค ข้าวลำไอออน 3 สายพันธุ์ใหม่แบบครบวงจรแห่งแรก แห่งเดียวในประเทศ และเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลกที่ใช้เวลาในการคิดค้นและพัฒนากว่า 10 ปี

เทคโนโลยีดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ 1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) 2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) 3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค 4.0 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำ
จากความสำเร็จดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีนี้ไปยังเกษตรกร ได้แก่ สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี วิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ.ราชบุรี อีกทั้งได้ลงนามความร่วมมือวิชาการกับสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรด้านข้าว และได้ขยายผลสำเสร็จ มช.-ราชบุรี โมเดล สู่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชัยนาท ปทุมธานี ปราจีนบุรี จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย อยุธยา อ่างทอง และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวลำไอออน การพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวลำไอออนและการตลาดแบบครบวงจร เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสุขแก่ชาวนาไทย ซึ่งจะไม่แต่เพียงเป็นกำลังใจให้เกษตรกรเชื่อมั่นในอาชีพทำนา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรอีกด้วย


การถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่ชุมชน ท้องถิ่นและสังคมวงกว้างอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” โดยเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำนี้ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาของโลกขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) SDG 1 SDG 2 SDG 3 SDG 8 และ SDG 9


#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

#CMUSDGs #CMUSDG1 #CMUSDG2 #CMUSDG3 #CMUSDG8 #CMUSDG9

#SDG1 #SDG2 #SDG3 #SDG8 #SDG9
แกลลอรี่