ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง อยู่นอกช่องท้องด้านหลังระดับบั้นเอว 2 ข้าง ใต้ต่อซี่โครงซี่ที่ 12 มีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ ได้แก่
- ผลิตน้ำปัสสาวะ
- ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย
- ช่วยในการรักษาความสมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิต และฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก ดังนั้น เมื่อไตทำงานน้อยลง มักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย
- เปลี่ยนฮอร์โมนวิตามินดี ให้เป็น Active form ที่สามารถนำไปใช้งานได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต ผู้ป่วยจะขาดวิตามินดี มีผลกระทบต่อกระดูก และโครงสร้างของกระดูกต่างๆ รวมถึงเสียสมดุลของ Calcium phosphorus และ Arathyroid hormone
อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไต พบได้ 1 ใน 10 ของประชากรในผู้ใหญ่ โดยมีการสำรวจในประเทศไทย พบว่า ในผู้ใหญ่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ในผู้หญิง 14 เปอร์เซ็นต์ และในผู้ชาย 12 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
สัญญาณเตือน เกี่ยวกับโรคไต
สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่
1. กลุ่มที่ไม่มีโรคไต
2. กลุ่มโรคไตเฉียบพลัน
3. กลุ่มโรคไตเรื้อรัง
สิ่งที่ใช้บ่งบอกว่าเป็นเป็นโรคไตหรือไม่ และอยู่กลุ่มใดนั้น จะใช้การตรวจเลือด จากปัสสาวะ และภาพทางรังสีหรือคลื่นเสียงความถี่สูง ส่วนระยะเวลาของการเกิดโรคไตที่พบ รวมถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเมินจากการตรวจค่า คริอะตินิน คำนวณค่าอัตราการกรองของไต และปริมาณน้ำปัสสาวะ อัลบูมินที่รั่วมาในน้ำปัสสาวะ
อาการของโรคไต
- ปัสสาวะลดลง
- มีอาการบวม หลังเท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง กดบุ๋มบริเวณหน้าต่อกระดูกหน้าแข้ง บวมบริเวณใบหน้า และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขึ้น
- หายใจเร็ว หอบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
- ปัสสาวะมีสีเข้ม กลิ่นผิดปกติ
หากมีอาการดังที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเร่งทำการตรวจรักษา
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง มีดังนี้
อันดับที่ 1 มาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
อันดับที่ 2 ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
อันดับที่ 3 ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอักเสบ
แนวทางการรักษา ทำได้โดย
ประเมินการทำงานของไต แบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังเป็น 5 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ไตทำงานมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า "โรคไตเรื้อรัง" ที่การทำงานของ “ไตปกติ”
ระยะที่ 2 ไตทำงาน 60-89 เปอร์เซ็นต์ เริ่มประเมินรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ และชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง
ระยะที่ 3 ไตทำงาน 30-59 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มการดูแลภาวะแทรกซ้อนของไต และต้องระวังในเรื่องของโรคหัวใจที่จะเป็นภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตได้มาก
ระยะที่ 4 ไตทำงานน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องวางแผนการทำบำบัดทดแทนไต คือการฟอกไต ไม่ว่าจะฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง หรือการปลูกถ่ายไต
ระยะที่ 5 ไตทำงานน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จะเริ่มการบำบัดทดแทนไต หากเป็นในระยะสุดท้ายแพทย์จะใช้วิธีบำบัดแบบประคับประคองให้ผู้ป่วย
?อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นตลอดเวลาในระหว่างที่ผู้ป่วยยังดำเนินชีวิตอยู่ บางรายอาจทำให้กระโดดข้ามขั้นเป็นระยะสุดท้าย หรือบางรายอาจถึงแก่กรรมได้ เพราะฉะนั้น การดูแลรักษา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยไตเรื้อรังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรงได้ง่าย ในบางรายที่ดูแลรักษาโรคอื่นๆ อยู่ด้วย แต่ได้รับยาที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้การทำงานของไตแย่ลงและเกิดอันตรายได้ในที่สุด
พฤติกรรมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต ได้แก่
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูง
2. ไม่ซื้อยารับประทานเอง ไม่ว่าจะเป็น ยาชุด ยาหม้อ หรือยารักษาโรคที่ต้องใช้ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน
3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
4. ควบคุมน้ำหนักตัว
5. ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ
6. ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
7. งดสูบบุหรี่
8. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม และเครื่องปรุงรส หรืออาหารสำเร็จรูป
9. ไม่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากเกินไป
10. พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร์
อาจารย์พิเศษหน่วยวิชาโรคไต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่