สลาย “มลพิษหมอกควัน” ด้วยนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

15 กุมภาพันธ์ 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านมลพิษหมอกควันเป็นอย่างดี จึงได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้น ในนามของ “คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ในภารกิจแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน ได้แก่ การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ติดตามสถานการณ์มลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือให้มีความต่อเนื่อง ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งศึกษาวิจัยและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความกระจ่างว่า “ ข้อแรก คือ ปัจจัยทางธรรมชาติ เนื่องจากภาคเหนือของเราอยู่ในพื้นที่เป็นแอ่ง มีภูเขาล้อมรอบ ในช่วงฤดูหมอกควัน การระบายออกของมลพิษเป็นไปได้ยาก จึงทำให้แอ่งเป็นที่สะสมของมลพิษ ข้อสอง คือเรื่องของแหล่งกำเนิด ทั้งการเผาป่าและการเผาในภาคการเกษตร การจราจรในเขตเมือง และเรื่องของมลพิษข้ามแดน ฯลฯ จึงได้เสนอทางออกร่วมกันกับทางจังหวัดเชียงใหม่ ในการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (Fire Management Decision Support System) หรือ Fire-D (ไฟดี) ภายใต้ ‘ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่’ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้โมเดลในการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 3-5 วัน รวมไปถึงการแสดงตำแหน่ง รายละเอียดที่ตั้ง และสถานะการดำเนินการ ของจุดที่จะทำการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นข้อมูลร่วมในการพิจารณาอนุญาตให้มีการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อใช้รับ-ส่งข้อมูลระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สามารถจัดการเชื้อเพลิงได้พร้อมทั้งระบบ ”

    

CMU Model โครงการเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ โครงการเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน เน้นกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ คือ การทำงานอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำ โดยเบื้องต้นมีการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ณ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แผนการบริหารจัดการ ทั้งสิ้น 4 ด้าน คือ

1) ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การจัดการธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำแผนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนป่าตึงงาม ในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในชุมชน อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนกับป่า

2) ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวนเกษตรและการดูแลรักษา การผลิตกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อการฟื้นฟูป่า

3) ด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกรองน้ำดื่มสะอาดสำหรับชุมชน

4) ด้านสังคมและสาธารณสุข สนับสนุนนวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า การสร้างห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก และผู้สูงอายุ การวิเคราะห์สารตกค้างในร่างกายที่เป็นตัวบ่งชี้การรับสารมลพิษทางอากาศ การจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และการทำวนเกษตร เป็นต้น

นวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันอย่างยั่งยืน
- ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ หรือ GISTNORTH ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินงาน “โครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับพื้นที่ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน” (Thermal UAVS) ขนาดเล็ก หรือโดรนในการลาดตระเวน ถ่ายภาพ และตรวจจับความร้อน เมื่อพบว่ามีคลื่นความร้อนจากการเผาหรือจากคนที่เข้าไปในพื้นที่ป่า ก็จะสามารถแจ้งเตือนและพิกัดที่เกิดเหตุไปยังเจ้าหน้าที่อย่างทันท่วงที

  

- นวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air) โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในเบื้องต้นมีการใช้นวัตกรรมนี้ในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังสามารถขยายผลไปสู่ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงได้อีกด้วย

- แอปพลิเคชันสำหรับเฝ้าระวังและการเตือนภัยมลพิษทางอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index (AQI) เพื่อรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ โดยศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CCDC : Climate Change Data Center) ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น Dustboy แสดงผลข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://www.cmuccdc.org/ รวมถึงเว็บและแอปพลิเคชัน CMU Mobile แสดงค่าฝุ่นและห้องปลอดฝุ่นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

- แอปพลิเคชัน “Thai Air Quality” จัดทำโดยศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้สำหรับพยากรณ์คุณภาพอากาศเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าสูงสุด 3 วัน ในพื้นที่ ทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์

- แอปพลิเคชัน CMAQHI และเว็บไซต์ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ www.ntaqhi.info ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประชาชนในภาคเหนือสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ ทั้งแบบเวลาจริงทุกชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พร้อมคำอธิบาย เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพ

- นวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้น Envi Mask หน้ากากผ้าซักได้ โดยใช้แผ่นกรองสอดไปในผ้า สามารถป้องกันและซักล้างได้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง, Envi Nano+Mask หน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันสารคัดหลั่งโควิด 19 และฝุ่นขนาด 0.0075 ไมครอน สามารถนำกลับมาใช้ได้กว่า 20 ครั้ง นวัตกรรมหน้ากากความดันบวก Masqurax@CMU ผลงานพัฒนาโดยภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กขนาด 1 ไมครอนได้ เหมาะสำหรับอาสาดับไฟป่า พนักงานดับเพลิง ตำรวจจราจร และประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ทั้งหมดนี้เป็นนวัตกรรมซึ่งสำเร็จได้จากการผนึกกำลังของคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสลาย “ฤดูหมอกควัน” ให้หมดไปจากพื้นที่ภาคเหนือและประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นความหวังสำหรับอนาคตในการแก้ไขปัญหามลพิษ หมอกควันอย่างยั่งยืนต่อไป

แกลลอรี่