การสัมมนาเครือข่ายการบ่มเพาะกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุฯ

2 กรกฎาคม 2567

คณะวิทยาศาสตร์

         ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จัดการสัมมนาเครือข่ายการบ่มเพาะกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจบีซีจี ประจำปีงบประมาณ 2566-2567 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ ห้องสัมมนา 2 ชั้น 2 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์

ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ได้รับการสนับสนุนโครงการเครือข่ายการบ่มเพาะกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจบีซีจี เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น และตรงตามความต้องการของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ในปีงบประมาณ 2566-2567

หนึ่งในเป้าหมายของโครงการฯ คือการสร้าง consortium ด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบและกลไกการสร้างกำลังคนจากแนวคิดของภาคผู้ใช้นักวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

ดังนั้น โครงการเครือข่ายการบ่มเพาะกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจบีซีจี จึงได้ดำเนินงานโครงการในลักษณะบูรณาการเครือข่ายวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ ทั้ง 3 เครือข่าย ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยไทยในเครือข่าย 2) ภาคเอกชน-ผู้ที่ต้องการกำลังคน 3) สถาบันชั้นนำต่างประเทศ-ผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและผู้ที่ต้องการกำลังคน ในลักษณะการร่วมกันสร้างสรรค์ (co-creation) โดยจะเน้นระบบและกลไกในการสร้างบุคลากรในลักษณะระบบพี่เลี้ยงนักวิจัย (Mentoring) เพื่อขับเคลื่อน BCG in Action ให้กับนักวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มความสามารถได้อย่างก้าวกระโดด มีกลไกการระดมความเห็นและวิเคราะห์ความต้องการจากภาคเอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดหัวข้องานวิจัยสำหรับนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกและระดับหลังปริญญาโทในการทำวิจัย และสร้างโอกาสให้กับนักวิจัยได้นำเสนอผลงานกับคณะกรรมการที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การจ้างงานและพัฒนาบุคลากรเหล่านี้เป็นนักวิจัย/นวัตกรในภาคเอกชนต่อไป
แกลลอรี่