นักชีววิทยา มช. ใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ประชากร ร่วมกับข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ศึกษาความแตกต่างเชิงเชื้อสาย ต่ออุบัติการณ์ของภาวะทางพันธุกรรมในกลุ่มชาติพันธุ์

19 พฤศจิกายน 2564

คณะวิทยาศาสตร์


“การศึกษาที่ต้องใช้องค์ประกอบทางพันธุกรรมของประชากรเป็นพื้นฐานจะต้องตระหนักถึงความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่เหมารวมว่าผู้คนในประเทศไทยคือประชากรเดียวกันทั้งหมด”

             งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบบูรณาการโดยใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ประชากรร่วมกับข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างเชิงเชื้อสายต่ออุบัติการณ์ของภาวะทางพันธุกรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศึกษารูปแบบและการแพร่กระจายของภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกซ์พีดี (G6PD deficiency) ในชาวไทลื้อ (Tai Lue) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในพื้นที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และมีการอพยพเคลื่อนย้ายผ่านประเทศพม่าและลาว เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อมีจำนวนผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกซ์พีดีสูงถึงร้อยละ 13.51 (40/296 คน) และรูปแบบของการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกซ์พีดีที่พบมากในชาวไทลื้อไม่ใช่รูปแบบ Mahidol และ Viengchan ที่พบมากในประชากรไทย (Thai) ทั่วไป แต่กลับพบรูปแบบ Kaiping และ Canton มากถึงร้อยละ 60.34 ของผู้ที่มียีนจีซิกซ์พีดีผิดปกติ ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์ที่มักพบกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได (Tai-Kadai) และจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) ที่อยู่ในประเทศจีน

การค้นพบนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการแพร่กระจายของภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกซ์พีดีมีความสอดคล้องกับการสืบเชื้อสายบรรพชนมากกว่าถิ่นที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

นักวิจัย
นายสุวภัทร สาธุภาค นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.กมลลักษณ์ ลีเจริญเกียรติ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.จตุพล คำปวนสาย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อเรื่อง Prevalence and molecular characterization of glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency in the Lue ethnic group of northern Thailand ในวารสาร Scientific Reports (Scopus/ISI Q1 IF2020=4.38) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อ่านงานวิจัย https://www.nature.com/articles/s41598-021-82477-w

แกลลอรี่