ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีบทบาททางด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการเพิ่มมูลค่าสู่เกษตรกร โดยความร่วมจากนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทำงานวิจัยร่วมกันตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร งานปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นงานต้นน้ำที่สำคัญและได้รับความร่วมมือจากนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนได้พันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตสูง รสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่
ลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
รศ. ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยฯ มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นจำนวน 10 สายพันธุ์ ได้แก่ ก่ำเจ้า มช. 107 (KJ CMU 107) ก่ำดอยสะเก็ด (KDK) ปิอิ๊ซู 1 มช. (PES 1 CMU) ก่ำหอม มช. (KH CMU) ก่ำอาข่า 1 (KAK 1 CMU) บือบ้าง 3 มช. (BB 3 CMU) บือบ้าง 4 มช. (BB 4 CMU) แสง 5 มช. (Sang 5 CMU) เบี่ยนกู๋ 5 มช. (BIK 5 CMU) และหย่ามือแชเบี่ย 3 มช. (YMCB 3 CMU) โดยชื่อพันธุ์ข้าวที่ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มานี้บ่งบอกถึงชื่อพันธุ์พื้นเมืองที่นำมาเป็นฐานพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งมีข้อดีเด่น คือ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ต้องใช้ปัจจัยในการผลิตสูง ลดต้นทุนในการผลิต และมีศักยภาพในการนำไปต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้
ข้าวพันธุ์ก่ำเจ้า มช. 107 พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มาจากก่ำดอยสะเก็ด และขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าที่ใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์มาเป็นเวลานาน เพื่อคัดเลือกคุณสมบัติต่าง ๆ ให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภค คือให้ผลผลิตและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะสารแกมม่าออไรซานอล ซึ่งออกฤทธิ์กับระบบประสาท ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรค เช่น มะเร็ง หัวใจ และเบาหวาน นอกจากนี้ยังเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร และผู้บริโภค เพราะให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสูง มีรสชาติอร่อย รวมทั้งให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย
ข้าวพันธุ์บือบ้าง 3 มช. เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าที่ปรับปรุงมาจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองของชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับคัดเลือกว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีวิตามินอีสูง ซึ่งเหมาะกับการใช้ในการดูแลผิวพรรณ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันปัญหาผมร่วงได้อีกด้วย
ข้าวพันธุ์ปิอิซู 1 มช. พันธุ์ข้าวเหนียวสีดำปรับปรุงมาจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชนเผ่ากะเหรี่ยงเช่นกัน มีคุณสมบัติคือ มีสารแอนโทไซยานินสูง มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยในการป้องกันแสงยูวี
ข้าวพันธุ์บือบ้าง 4 มช. เป็นพันธุ์ข้าวที่มีธาตุสังกะสีสูง เหมาะสำหรับเพศชายในการเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มความแข็งแรงของอสุจิ สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก
ข้าวพันธุ์หย่ามือแชเบี่ย 3 มช. เป็นข้าวที่มีสีส้ม ซึ่งทางคณะเภสัชศาสตร์ได้นำสีไปใช้เป็นสีผสมยา เนื่องจากเป็นสีธรรมชาติและปลอดภัย โดยสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติเด่นคือมีสารแกมม่าออไรซานอลเช่นเดียวกัน
ข้าวพันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด มีลักษณะที่แตกต่างจากข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ เพราะทั้งใบ ลำต้นและเมล็ดข้าวจะมีสีม่วง พันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากทั้งในด้านการบริโภค และเป็นพืชประดับ โดยเฉพาะร้านอาหาร มักนิยมนำข้าวพันธุ์นี้ไปปลูกเพื่อเสริมความสวยงามในร้านอาหาร ด้วยความต้องการที่สูงมากทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และต้องขยายพื้นที่ปลูก
พันธุ์ข้าวที่ได้รับการพัฒนาเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ เนื่องจากสามารถสร้างสารคุณภาพพิเศษได้สูง ฉะนั้น ภูมิประเทศของภาคเหนือจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกข้าวได้ดีที่สุด ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูกได้ทั่วประเทศ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว
ทีมวิจัยจาศูนย์วิจัยข้าวล้านนาฯ ได้แปรรูปข้าวสายพันธุ์ก่ำเจ้า มช. 107 และบือบ้าง 3 มช. เป็นเครื่องดื่มน้ำข้าว ที่เกิดจากการหมักของจุลินทรีย์ มีรสชาติหวานจากข้าวธรรมชาติ และไม่มีแอลกอฮอล์ โดยได้เริ่มทดลองจำหน่ายในงาน Lanna Gastro Fest 2021 ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อีกทั้งจะมีการแปรรูปแป้งจากข้าวก่ำ ที่ผลิตจากข้าวก่ำเจ้า มช. 107 ที่งอกเพื่อเพิ่มสารกาบา และเป็นแป้งข้าวที่ปราศจากกลูเตนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีครีมทามือที่ผลิตจากข้าวสายพันธุ์บือบ้าง 3 มช. ด้วย
การส่งเสริมอาชีพเกษตรกร
ศูนย์วิจัยข้าวล้านนาฯ มีการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้จากการทำนา เช่น ฟางข้าว รำข้าว แกลบ ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งมีการส่งเสริมกระบวนการปลูกข้าวให้แก่เกษตรกรในภาคอีสาน และภาคเหนือ
“ปัจจุบันมีการนำร่องในการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 ไร่ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า สามารถปลูกได้และรักษาเสถียรภาพของสาระสำคัญต่างๆ สามารถเพิ่มมูลค่าโดยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลดต้นทุนให้เกษตรกร สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อเป็นแนวทางนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป” รศ. ดร.ชนากานต์ กล่าว นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยออกมาว่า ผลิตผลที่ได้จากการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกข้าวโดยศูนย์วิจัยฯ นั้น ไม่มีสารเคมีและสารตกค้างที่อันตราย
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยข้าวล้านนาฯ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรที่สนใจปลูกข้าวที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จากศูนย์วิจัยฯ อีกด้วย โดยนำเกษตรกรที่เชี่ยวชาญ ประสบผลสำเร็จในการปลูกข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทำการปลูกแล้วได้ผลิตดี ได้คุณค่าทางโภชนาการสูงมาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ และแนะนำในเรื่องการปลูกข้าวแก่เกษตรใหม่ที่สนใจ ซึ่งการอบรมนี้จัดขึ้นเป็นประจำ โดยสามารถติดตามการอบรมและการปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์ข้าวได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ: ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อมูลโดย ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่