มช.พัฒนา "อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์" มุ่งลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง

16 กันยายน 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งเพื่ออุตสาหกรรมผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม ส่งผลให้ผึ้งเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมาก แต่หนึ่งปัญหาสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยประสบ คือการขาดแคลนแหล่งอาหารผึ้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจึงต้องให้อาหารเสริมแก่ผึ้ง และจำเป็นต้องใช้อาหารเสริมที่มีราคาสูง เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพดี สร้างภาระหนักแก่เกษตรกรอย่างมาก ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์ ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ จึงได้ริเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรม "อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์" มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ และช่วยเหลือชุมชนได้อย่างยั่งยืน

          มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการบริโภคผลผลิตจากแมลงทั้งตลาดในประเทศไทยและตลาดโลกในอีก 3 ปีข้างหน้าว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งการเพาะเลี้ยงให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ปัญหาสำคัญที่ต้องเผชิญ คือการขาดแคลนแหล่งอาหารผึ้ง จำเป็นต้องย้ายรังผึ้งไปตามแหล่งอาหาร เช่น สวนลำไย สวนลิ้นจี่ หรือพื้นที่ป่า เพื่อให้ผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ที่บานตามฤดูกาล เมื่อหมดช่วงฤดูเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งแล้ว เกษตรกรจะต้องให้อาหารเสริมแก่ผึ้ง เพื่อให้ผึ้งได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการและไม่ทิ้งรัง อาหารเกสรเทียมเสริมทดแทนโปรตีนจากเกสรในธรรมชาติมีคุณภาพหลากหลาย ซึ่งการได้มาซึ่งน้ำผึ้งคุณภาพเยี่ยม จะต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ส่งผลให้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงสูงขึ้น คณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการพัฒนาอาหารเสริมสำหรับผึ้งที่มีโภชนะที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนอาหารเสริมที่เกษตรกรใช้เลี้ยงผึ้งและค่าใช้จ่ายในการขนย้ายรัง

  

       โดยปกติแล้วเกษตรกรได้ใช้จุลินทรีย์ที่มีเอนไซม์ที่ย่อยเยื่อใยพืชและการหมัก เพื่อผลิตเป็นหัวเชื้อพร้อมใช้ และนำไปใช้หมักเพิ่มโภชนะของวัตถุดิบอาหารผึ้ง อย่างไรก็ตามสูตรอาหารเสริมเลี้ยงผึ้งที่เกษตรกรผลิตเองอาจมีโภชนะไม่ตรงกับความต้องการของผึ้ง และผึ้งใช้ประโยชน์จากอาหารเสริมได้ต่ำ เนื่องจากวัตถุดิบจากพืชส่วนมากมีการย่อยได้ต่ำ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโภชนะและประสิทธิภาพการย่อยได้ง่ายของอาหารผึ้งที่ผลิตขึ้น คือ การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์โดยเฉพาะยีสต์ (Al-Ghamdi., 2011) และแบคทีเรียโดยเฉพาะในกลุ่มที่ผลิตกรด แลคติกมาเพิ่มประสิทธิภาพการหมัก และค่าโภชนะของอาหารเสริมที่ทำขึ้นมามีโปรตีน 18 % พลังงาน 17-20 (MJ/kg) (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 15% (Malerbo-Souza 2011)) ซึ่งข้อจำกัดของวิธีนี้คือเอนไซม์ทางการค้ามีราคาสูงมาก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการที่จะต้องซื้อเอนไซม์ราคาแพงมาใช้หมักวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารผึ้ง การคัดแยกจุลินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ย่อยเยื่อใยพืชที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นแนวทางใหม่ที่จะนำมาใช้หมักเพิ่มโภชนะและการย่อยได้ของวัตถุดิบก่อนนำไปประกอบเป็นสูตรอาหารผึ้ง ซึ่งเป็นโจทย์ที่คณะผู้วิจัยจะต้องทำการศึกษาวิจัย พัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรม "อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์"

        อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ มีส่วนประกอบหลักเกือบ 50% ประกอบด้วย หางนม (33.33%) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตนมซึ่งมีราคาถูกเฉลี่ย 120 บาทต่อกิโลกรัม ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่ากากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ แต่เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนะสูง คือ แหล่งรวมอะมิโนแอซิด หน่วยย่อยของโปรตีนที่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว และ ย่อยง่าย ดังนั้นหางนมผงจึงเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมกับการนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารผึ้ง ร่วมกับการใช้เนื้อฟักทองสด (13.33%) ซึ่งมีโปรตีน วิตามิน และ ไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อผึ้งพันธุ์ที่สามารถหาได้ในจังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตฟักทองของประเทศไทย ผลผลิตมีตลอดปีโดยเฉพาะผลผลิตตกเกรดที่จะมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ราคาค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 0-2.0 บาทต่อกิโลกรัม

  

        คณะผู้วิจัยได้มุ่งเน้นการใช้วัสดุการเกษตรที่หาได้ในพื้นที่มาเป็นส่วนประกอบอาหารเพื่อลดต้นทุน ทำให้สามารถผลิตอาหารผึ้งได้ในราคาที่ต่ำ สามารถนำวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีราคาถูกซึ่งมีลักษณะคุณสมบัติใกล้เคียงกับฟักทองมาทดแทนเพื่อใช้ผสมเป็นสูตรอาหารเลี้ยงผึ้งพันธุ์ตามฤดูกาล โดยได้มีการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานและเกษตรกรในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาสูตรอาหาร อาทิ เช่น มะเขือเทศ และ แตงแคนตาลูปตกเกรดจากการผลิตและตัดแต่งผักผลไม้ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า มูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดพะเยา รวมไปถึงลำไยตกเกรด และ เศษสับปะรดภูแล จังหวัดเชียงราย ซึ่งประสานงานกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ทำให้สามารถเปลี่ยนเศษเหลือเหล่านี้ไปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดขยะในชุมชนได้

        ในปัจจุบันได้มีการขยายเครือข่ายงานวิจัยเพื่อบูรณาการศาสตร์ระหว่างหน่วยงานขึ้นจากเดิมในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยนวัตกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยพะเยา กรมปศุสัตว์ บริษัท เอ็นพลัส อะโกร จำกัด และ ฟาร์มผึ้งพันธุ์ กุนทนฟาร์ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการร่วมสร้างองค์ความรู้แบบบูรณาการ ตั้งแต่การจัดการโซ่อุปทานของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

  

        ทั้งนี้นวัตกรรม "อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศแบบครบวงจร CoE ของคณะเกษตรศาสตร์ ในงาน AIC Award 2022 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2022 ที่ผ่านมาอีกด้วย

         การต่อยอดนวัตกรรมจากสิ่งใกล้ตัวหรือท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลกลับมาสู่ชุมชนได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ได้ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาความรู้ตลอดมา นวัตกรรมนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจจากการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมที่มีประโยชน์ สามารถตอบสนองความต้องการต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวได้เป็นอย่างดี สอดรับกับพื้นฐานแนวคิด BCG Economy Model มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แกลลอรี่