นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมทีม ม.เกษตร จุฬาฯ และนักวิจัยต่างชาติ พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนประจุบวก ป้องกันการเกิดโรคฟรานซิสเซลโลซิสและโรคเหงือกเน่าในปลานิล ภายใต้งานวิจัยในหัวข้อ Development of a bivalent mucoadhesive nanovaccine to prevent francisellosis and columnaris diseases in Nile tilapia (Oreochromis niloticus) โดยวัคซีนที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นแนวทางสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ
การเกิดโรคฟรานซิสเซลโลซิส (francisellosis) ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Francisella orientalis sp. nov. และโรคเหงือกเน่า (columnaris) ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Flavobacterium oreochromis ส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยรวมของปลานิลในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่สำคัญของประเทศไทย ทางคณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนประจุบวกเกาะติดเยื่อเมือก สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งสองชนิดพร้อมกัน โดยวิธีการแช่ (bivalent mucoadhesive immersion nanovaccine) วัคซีนที่ใช้เป็นชนิดเชื้อตาย โดยใช้เทคโนโลยี nanoencapsulation ในการกักเก็บวัคซีนภายในอนุภาคนาโนอิมัลชัน ที่ห่อหุ้มด้วยสารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic lipid surfactant) และมีการทดสอบและวิเคราะห์สมบัติต่าง ๆ ของอนุภาคนาโนวัคซีน ทั้งทางด้านเคมีฟิสิกส์และด้านชีวภาพ
จากนั้นจึงทำการทดสอบประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน โดยตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันวิทยาในปลานิลที่ผ่านการให้วัคซีน เปรียบเทียบกับปลานิลที่ไม่ได้ให้วัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ เช่น การวัดปริมาณแอนติบอดี้ด้วยเทคนิค enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) การตรวจการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน โดยวิธีการ quantitative real time PCR เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของเนื้อเยื่อต่าง ๆ จากปลานิลหลังได้รับวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการอีกด้วย
ผลการทดลองพบว่า นาโนวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมีศักยภาพในการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อทั้งสอง และเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในปลานิลที่ได้รับวัคซีนทั้งแบบไม่จำเพาะ (innate immunity) ซึ่งพิจารณาจากพารามิเตอร์ คือ กิจกรรมของไลโซไซม์ การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย และการเกิดฟาโกไซโตซิส และแบบจำเพาะ (adaptive immunity) พิจารณาจากการเพิ่มขึ้นของระดับแอนติบอดีชนิด IgM โดยรวม และระดับการแสดงออกที่เพิ่มขึ้นของยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ IgM, IgT, CD4+, MHCII alpha และ TCR beta ในอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดของปลานิลที่ได้รับนาโนวัคซีน
นอกจากนี้ กลุ่มปลานิลที่ได้รับวัคซีนยังมีอัตราการรอดสูงกว่ากลุ่มปลานิลที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังจากเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งสอง วัคซีนที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นแนวทางสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคฟรานซิสเซลโลซิส (francisellosis) และ โรคเหงือกเน่า (columnaris) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ
เนื่องจากวิธีการผลิตนาโนวัคซีนแบบแช่ดังกล่าว เป็นวิธีการผลิตที่ต้นทุนต่ำ และสามารถช่วยในการป้องกันการเกิดโรคฟรานซิสเซลโลซิส (francisellosis) และโรคเหงือกเน่า (columnaris) ในปลานิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการพัฒนาต่อยอดใช้งานจริง ก็จะส่งผลให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ทำธุรกิจฟาร์มปลานิลสามารถลดต้นทุนในการดูแลสุขภาพของปลานิลในฟาร์มของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตของปลานิลที่เป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนที่ได้รับความนิยมของประเทศไทยได้ อีกทั้งปลานิลยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของประเทศไทย โดยจากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้ส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์จากปลานิลไปยังหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Fish & Shellfish Immunology
DOI: https://doi.org/10.1016/j.fsi.2023.108813
ทีมวิจัย
1. อ.ดร.อนุรักษ์ บุญน้อย (คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
2. ดร.คิม ทอมสัน (Moredun Research Institute, Pentlands Science Park, United Kingdom)
3. ดร.พัชรพงศ์ ทังสุนันท์ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
4. น.ส.พุฒิตา โชคมั่งมีไพศาล (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
5. อ.ดร.ธีรพงศ์ ยะทา (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
6. รศ.น.สพ.ดร.นพดล พิฬารัตน์ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
7. สพ.ญ.ดร. สิริกร กิตติโยดม (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
8. อ.ดร.พัฒนพงศ์ ทังสุนันท์ (ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
9. น.ส.พิมพ์วรางค์ สุขการันต์ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
10. นายพชร พฤกษ์เบญจกุล (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
11. นายนภัทร พันธุกำพล (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
12. น.ส.มานามิ โมริชิตะ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
13. รศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศรีษะภูมิ (คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
14. รศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)