ในวาระครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อัญเชิญ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมในขบวนแห่รถบุษบกพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยประดิษฐานพระพุทธรูปบนบุษบกปราสาทแบบล้านนาที่ออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ ด้วยงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่จากภูมิปัญญาช่างพื้นบ้าน เพื่อเชิดชูคุณค่าของงานหัตถกรรมล้านนาให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณชน
"ภูมิผญาสักการะ พุทธล้านนา Maha Songkran World Water Festival" เป็นการนำงานภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ มาใช้เป็นวัสดุหลักของส่วนประกอบสำคัญ เพื่อนำเสนอคุณค่าของงานช่างล้านนา เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ eco-green ซึ่งเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นตัวบุษบกปราสาทประดิษฐานพระพุทธพิงคนคราภิมงคลเป็นหลัก ส่วนเครื่องสักการะประกอบอื่นๆ เช่น ฉัตรเครื่องสูง สุ่มดอก รวมไปถึงส่วนประดับตกแต่งต่างๆ ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่สาน และประดับด้วยดอกไม้สด โทนสีม่วง เหลือง ส้ม เป็นสีหลักในการตกแต่งตัวรถ และมีพญานาค 2 ตัว คอยพ่นน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ปีนักษัตรมะโรง ประกอบขนาบด้านข้างของตัวรถ พร้อมทั้งเทวดา 2 ตน สวมเครื่องทรงแบบล้านนา คอยรับน้ำสรงจากพุทธศาสนิกชน
ส่วนล่างด้านข้างตัวรถทั้งสองด้านประดับรูปคติความเชื่อเรื่องนางสงกราต์ และขุนสังขานต์ ตกแต่งด้วยลวดลายจากหัตถกรรมจักสานและดอกไม้สด
หน้าตัวรถประดับป้ายข้อความ “รถบุษบกพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภูมิผญาสักการะ พุทธล้านนา Maha Songkran World Water Festival”
เทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยชาวล้านนาเชื่อว่าปีใหม่ คือ ช่วงที่ขุนสังขานต์ หรือสุริยเทพเคลื่อนย้ายจากราศีมีนไปยังราศีเมษ เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ชาวล้านนาจึงนำน้ำส้มป่อยมาชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีในปีเก่าออกไป รวมถึงการสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อแสดงความเคารพในพระพุทธศาสนา และเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดี ด้วยการทำบุญสร้างกุศล