5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่หลัง COVID-19

3 กุมภาพันธ์ 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ภาคบริการ และการเกษตร ซึ่งในภาคการศึกษานั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยหลักแห่งภูมิภาค อันมีความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้กำหนดมาตราการเยียวยาช่วยเหลือนักศึกษา โดยดำเนินการ “ลด” ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหอพัก, “ให้เปล่า” มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ และ “บรรเทา” โดยการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักศึกษา เพื่อผ่อนผันค่าธรรมเนียม ค่าหอพักและค่าครองชีพ รวมมูลค่ากว่า 715 ล้านบาท


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขยายบทบาทและขอบเขตสู่ภายนอก โดยใช้ทรัพยากรและความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยช่วยเหลือประชาชน ชุมชน สังคม ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สนับสนุนการสร้างกลไกฟื้นฟูให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนา เพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ตลอดจนการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วย “5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่หลัง COVID-19 (5 Programs: CMU Power for Strengthening and Transitioning to New Normal)” ดังนี้
โปรแกรมที่ 1 มช. อาสา Plug and Play (CMU Local Engagement Plug & Play) เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 และบัณฑิตว่างงาน เสริมทักษะเตรียมความพร้อมจิตวิญญาณในการทำงาน ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครผู้นำชุมชน โดยมีทีมพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา สร้างความเข้มแข็งจากการสร้างองค์ความรู้ผ่านกลไก Plug & Play อาทิ ความรู้ทางการเงิน, การนำเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ / การทำการตลาด, การจับคู่ห่วงโซ่อุปทาน และการสร้างผู้ประกอบการ / สตาร์ทอัพ ซึ่งมีนักศึกษาและบัณฑิตเข้าร่วมมากกว่า 750 คน โดยสามารถยกระดับองค์ความรู้ พัฒนากระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ถึง 77 ชุมชน
โปรแกรมที่ 2 เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานกับ มช. (Learning & Working with CMU) ผ่านโครงการ อว. สร้างงานระยะที่ 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างรายได้ให้แก่บัณทิตว่างงานและผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากโควิด-19 กว่า 3,000 คน ให้มีงานทำและมีความพร้อมก่อนทำงานจริง โดยให้โอกาสการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งผู้ช่วยนักวิจัย พนักงานปฏิบัติงาน พนักงานสนับสนุนและประสานงาน เป็นต้น การทำงานกับ Startup / SMEs และการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน
โปรแกรมที่ 3 สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพกับ มช. (CMU Startup) เปิดโอกาสให้นักศึกษาในชั้นปีสุดท้าย, บัณฑิตว่างงาน และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง เพิ่มประสิทธิภาพด้วยกระบวนการสร้างสตาร์ทอัพในธุรกิจเกษตรและอาหาร ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีความพร้อมเพื่อเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมากกว่า 30 บริษัท
โปรแกรมที่ 4 องค์ความรู้ มช. เพื่อทุกคน (CMU Knowhow for All) เสริมทักษะด้วยองค์ความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยี พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ก่ำเจ้า มช. 107, การเลี้ยงผึ้งและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง, การผลิตผ้าทอใยสับปะรด และการพัฒนาสารเคลือบธรรมชาติที่สามารถบริโภคได้สำหรับผลิตภัณฑ์ได้โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ เป็นต้น สร้างเกษตรกรยุคใหม่ ได้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีคาวมรู้ความสามารถในการยกระดับช่องการจำหน่ายในหลากหลายแพลตฟอร์ม
และโปรแกรมที่ 5 เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยโรงงานต้นแบบ มช. (CMU Pilot Plant for Value-Added) โดยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ 1.) โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตร แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างความสำเร็จการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรกับภาวะผลผลิตล้นตลาด โดยเปิดรับซื้อมะม่วงและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มะม่วงอบกรอบ มะม่วงในน้ำเชื่อม มะม่วงบดละเอียด ศึกษาวิจัยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ 2.) โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ (UTD RF Technology Pilot Plant) ยกระดับข้าวไทยปลอดภัยไร้สารเคมีในภูมิภาค ให้บริการวิเคราะห์ความปลอดภัย สร้างความมั่นใจด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า พร้อมการทดสอบตลาดด้วยการวางจำหน่ายใน NSP Inno Store อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทุกๆ โครงการที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากความร่วมมือและการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อจัดหาและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนดำเนินการจากหลายแหล่ง ทั้งงบประมาณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน่วยงานภายนอกที่สอดคล้องและสอดรับกับการทำงาน อาทิเช่น โครงการ อว. สร้างงานระยะที่ 2, โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างทันท่วงที ได้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากโครงการที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ได้แก่ โครงการ 7 แผนงานใหม่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จากการสนับสนุนของกระทรวง อว. และโครงการยกระดับเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าและต่อยอดงานวิจัยด้วยโรงงานต้นแบบจากงบประมาณการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 2 เชิงรุก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะเกิดการจ้างงาน 5,500 คน ชุมชนได้รับการยกระดับศักยภาพ 210 ชุมชน มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีบริษัท SMEs/Startups 50 บริษัท ซึ่งมีประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 1,533 ล้านบาท จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่หลัง COVID-19” นี้จะเป็นต้นแบบให้เกิดกลไกการผลักดันร่วมกับกลไกอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างคนและผู้นำยุคใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อตอบโจทย์พื้นที่และก่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน .

แกลลอรี่