หมอเตือนหน้าฝน ระวังโรคไข้เลือดออกระบาด เผยตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2566 พบมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 1.6 หมื่นราย

30 พฤษภาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

แพทย์ รพ. มหาราชนครเชียงใหม่ เตือนประชาชนระวังยุงลายนำเชื้อไวรัสเดงกีก่อโรคไข้เลือดออก ระบาดช่วงฤดูฝน พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวนมาก ยันปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ ย้ำให้ทุกครอบครัวป้องกันตนเอง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย


รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบมีการระบาดของทั้ง 4 สายพันธุ์ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยพบยุงลาย 2 ชนิดหลักที่สามารถนำโรคไข้เลือดออกได้ คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งยุงลายถือเป็นหาพะนำโรคสำคัญที่ทำให้โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกหลายๆ คน และเกิดการระบาดในชุมชนได้ โดยทั่วไปหากมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนได้ ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสเดงกีและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงได้ เช่น ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เกิดภาวะช็อค หรือเสียชีวิต เป็นต้น


จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (สัปดาห์ที่ 20) มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จำนวน 16,650 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 25.16 ต่อประชากรแสนราย และผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จำนวน 14 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.08 ต่อประชากรแสนราย ซึ่งจากสถิติดังกล่าวพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2566 สูงกว่าปี พ.ศ. 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 4.7 เท่า


สำหรับกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เด็กอายุ 5-14 ปี จำนวน 5,556 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 75.23 ต่อประชากรแสนราย รองลงมา คือ ผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 15-24 ปี จำนวน 3,890 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 46.38 ต่อประชากรแสนราย และผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปี จำนวน 2,612 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 28.02 ต่อประชากรแสนราย
จังหวัดที่พบอัตราป่วยสะสมสูงสุดในประเทศไทย 5 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดตราด สงขลา สมุทรสาคร น่าน และนราธิวาส และจังหวัดที่พบอัตราผู้ป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา 5 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดน่าน ตราด จันทบุรี ชุมพร และตาก
สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุด พบว่ามีรายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 352 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 19.70 ต่อประชากรแสนราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 105 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.88 ต่อประชากรแสนราย โดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต”


รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การทายาหรือโลชั่นกันยุง สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ก่อนออกจากบ้าน เป็นต้น (2) การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น การกำจัดแหล่งน้ำขัง และการใช้ทรายอะเบตเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายและตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุง เป็นต้น และ (3) การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด โดยวัคซีนชนิดแรกสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยมีหลักฐานยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และวัคซีนชนิดที่ 2 สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอทราบข้อมูลและรายละเอียดของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 2 ชนิด เพิ่มเติมได้ หากมีความประสงค์จะฉีดวัคซีนดังกล่าว”


ข้อมูลโดย : รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นส.ธัญญลักษณ์ สดสวย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
*ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ค. 2566
#ไข้เลือดออก #ยุงลาย
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่