สัปดาห์ปัสสาวะรดที่นอนโลก 2567 ” WORLD BEDWETTING WEEK 2024“

5 มิถุนายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

เนื่องจากการปัสสาวะรดที่นอนถือเป็นโรคหนึ่งที่ทางองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ จึงกำหนดให้วันที่ 3-9 มิถุนายน 2567 เป็นสัปดาห์ปัสสาวะรดที่นอนโลก


ปัสสาวะรดที่นอน เป็นภาวะที่ปัสสาวะในขณะนอนหลับในเด็กที่อายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป โดยมีรายงานอุบัติการณ์ในประเทศไทยที่ร้อยละ 15-18 ในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี สาเหตุของโรคปัสสาวะรดที่นอนที่พบบ่อยคือ ปริมาณปัสสาวะมากตอนกลางคืน ความผิดปกติของการนอนหลับ และกระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินตอนกลางคืน
ภาวะปัสสาวะรดที่นอนมีผลกระทบทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว การเรียน การเข้าสังคม และคุณภาพชีวิตได้
การวินิจฉัยและการดูแลรักษาปัสสาวะรดที่นอนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์สหสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม และกุมารแพทย์โรคไต เป็นต้น ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและเด็กด้วย


เนื่องจากโรคปัสสาวะรดที่นอนมีความสำคัญในทางการแพทย์มากจึงมีการกำหนดให้วันที่ 3-9 มิถุนายน 2567 เป็น “สัปดาห์ปัสสาวะรดที่นอนโลก” (World Bedwetting Week) โดยมีองค์กรหลักคือ International Children’s Continence Society (ICCS) และ European Society for Pediatric Urology (ESPU) เป็นผู้ดำเนินงานในการรณรงค์
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ปกครองและเด็กตระหนักถึงความสำคัญและเข้าถึงการรักษาภาวะปัสสาวะรดที่นอนต่อไป


การวินิจฉัยปัสสาวะรดที่นอน แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ และขอให้ผู้ปกครองหรือเด็กทำการจดบันทึกการดื่มน้ำและการปัสสาวะติดต่อกัน 3 วัน หากจำเป็นอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม


การรักษาโดยการให้ความรู้และความเข้าใจ แพทย์จะอธิบายให้ผู้ปกครองและเด็กทราบถึงการปัสสาวะที่ปกติ และการปัสสาวะรดที่นอน ให้กำลังใจ และสร้างแรงจูงใจในการรักษาร่วมกัน ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษเด็ก


การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral modification) เช่น ลดอาหารกลางวันและอาหารเย็นที่มีแคลเซียมและโซเดียมสูง ลดการดื่มน้ำหรือนมก่อนนอน ฝึกการปัสสาวะเป็นเวลา ปัสสาวะทุกครั้งก่อนนอน ดูแลการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นปกติ
การใช้เครื่องปลุกเตือนปัสสาวะรดที่นอน (enuresis alarm) เป็นอุปกรณ์พิเศษโดยจะทำการปลุกด้วยเสียงและหรือสั่นเมื่อเครื่องรับรู้ว่ามีการปัสสาวะรดที่นอนที่ติดไว้ในผ้าอ้อมหรือกางเกงใน แล้วเด็กจะต้องตื่นไปปัสสาวะในห้องน้ำให้เรียบร้อย โดยมีผู้ปกครองดูแล
ทานยาลดปริมาณน้ำปัสสาวะในตอนกลางคืน ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีปริมาณน้ำปัสสาวะในตอนกลางคืน ตัวยาคือ desmopressin (DDAVP) มีทั้งในรูปขอยาเม็ดรับประทาน และยาอมใต้ลิ้นก่อนนอน โดยที่ผู้ป่วยต้องจำกัดน้ำดื่มก่อนนอนร่วมด้วย ถ้าไม่ดีขึ้นอาจมีการใช้ยาในกลุ่ม anticholinergic ร่วมด้วย ยานี้จะช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะแต่อาจทำให้ท้องผูกได้
นอกจากนี้การรักษาปัสสาวะรดที่นอนที่รักษายาก อาจรักษาด้วยยารับประทาน tricyclic antidepressant อย่างไรก็ตามยานี้อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อหัวใจได้


การรักษาทางเลือกอื่นๆ อาทิเช่น การสะกดจิต ฝังเข็ม จัดกระดูก และสมุนไพร ยังคงอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น
หากบุตรหลานของท่านหรือคนรู้จักมีปัญหาเรื่องปัสสาวะรดที่นอน ควรนำมาปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและหายขาดต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่