พฤษภาคมนี้ พบกับการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 22 ที่ ม.เชียงใหม่
13 พฤษภาคม 2568
คณะวิทยาศาสตร์
25-30 พ.ค. นี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 22 เพื่อเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทย ร่วมชิงชัยในเวทีวิชาการดาราศาสตร์ระดับโลก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 22 (The 22nd Thailand Astronomy Olympiad (22nd TAO)) ระหว่างวันที่ 25 - 30 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)
การแข่งขันดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกนักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. จาก 12 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ และพัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสนใจในวิชาดาราศาสตร์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนจากศูนย์อื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ครู อาจารย์ จากศูนย์ สอวน. มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในวิชาดาราศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้น
ดาราศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน และเริ่มมีการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Astronomy Olympiad: IAO) ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ 2539 (ค.ศ 1996) ณ North Caucasus ประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ 2546 (ค.ศ 2003) มูลนิธิ สอวน. ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนิน “โครงการนำร่อง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก” ขึ้น ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2546 (ค.ศ 2003) และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2550 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นว่าการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 22 (The 22nd Thailand Astronomy Olympiad (22nd TAO)) จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนไทยในการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนทั่วประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันในครั้งนี้ จะสามารถคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพ เพื่อเข้าร่วมการอบรม และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป
คณะวิทยาศาสตร์ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งแรงใจเชียร์เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขัน และร่วมกันผลักดันให้เด็กไทยให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการให้ทัดเทียมนานาประเทศ
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการแข่งขันได้ที่ Facebook : 22nd Thailand Astronomy Olympiad