นักวิจัยคณะวิทย์ มช. นำทีมพัฒนาการเสริมสมรรถนะของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์สำหรับใช้ในอาคาร เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์ IoTs

4 สิงหาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

       นักวิจัยวิทย์ มช. ร่วมกับนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ศึกษาและพัฒนาการเสริมสมรรถนะของเซลล์แสงอาทิตย์ ชนิดเพอรอฟสไกต์ สำหรับใช้ในอาคาร โดยการใช้ชั้นส่งผ่านโฮลผสม พร้อมต่อยอดสู่การใช้งานในอาคาร เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์ IoTs ที่ใช้กำลังงานต่ำ

ทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ (SCRL) ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับทีมนักวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (SEEU) วิทยาลัยพลังงานทดแทน ทำการเสริมสมรรถนะของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์สำหรับใช้ในอาคารโดยการใช้ชั้นส่งผ่านโฮลผสมระหว่าง คอปเปอร์พทาโลไซยานีน (CuPC) และคอปเปอร์ (I) ไทโอไซยาเนต (CuSCN) ที่อัตราส่วนต่างๆ และทดสอบประสิทธิภาพการแปลงกำลังงานภายใต้แสงมาตรฐาน AM1.5G และ ภายใต้แสงจากหลอดไฟ LED ที่ความเข้มแสง 1000 ลักซ์ รวมถึงการทดสอบความเสถียรต่างๆ

เซลล์แสงอาทิตย์ที่ประกอบขึ้น มีประสิทธิภาพการแปลงกำลังงาน 15% ภายใต้แสงมาตรฐาน AM1.5G และให้ประสิทธิภาพการแปลงกำลังงาน 32% ภายใต้แสงจากหลอดไฟ LED ที่ความเข้มแสง 1000 ลักซ์ เซลล์แสงอาทิตย์ที่ประกอบขึ้นยังมีการทดสอบอายุจริงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

การพัฒนาในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งแนวทางในการนำเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไต์มาใช้ในอาคารเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์ IoTs ต่างๆ ที่ใช้กำลังงานต่ำต่อไป

งานวิจัยนี้ สอดคล้องกับ SDG 7: Affordable and Clean Energy ที่มุ่งเน้นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้และยั่งยืนในราคาย่อมเยาว์

ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces
Publication Date : March 20, 2023
https://doi.org/10.1021/acsami.2c23136

รายชื่อนักวิจัย
ทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ (SCRL) ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.พิพัฒน์ เรือนคำ, รศ.ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล, ดร.อัจฉราวรรณ กาศเจริญ, น.ส.เสาวลักษณ์ หอมนาน ร่วมกับอาจารย์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์์ รศ.ดร.อธิพงศ์ งามจารุโรจน์, ผศ.ดร.สาคร ริมแจ่ม ทีมนักวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (SEEU) วิทยาลัยพลังงานทดแทน ประกอบด้วย รศ.ดร.อัครินทร์ อินทนิเวศน์, น.ส.ปิยะพร มากมิ่ง (นักศึกษาปริญญาโท) ทีมนักวิจัยจากกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย รศ.ดร.พงศกร กาญจนบุษย์, รศ.ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ และร่วมกับทีมนักวิจัยจาก Kyoto University ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย Prof. Dr. Takashi Sagawa และ Assoc. Prof Dr. Mitsutaka Haruta



แกลลอรี่