หัวหน้ากลุ่ม Chiang Mai CCS ร่วมบรรยายอัพเดตกิจกรรม CCS ไทย ในงาน “Thailand and Korea Seminar: To Net Zero with Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) and Hydrogen Technologies”

12 ธันวาคม 2566

คณะวิศวกรรมศาสตร์

กลุ่มวิจัยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เชียงใหม่ (Chiang Mai CCS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัย ร่วมเป็นตัวแทนฝ่ายประเทศไทยในการบรรยายอัพเดตเทคโนโลยีและกิจกรรมด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในงานสัมมนา “Thailand and Korea Seminar: To Net Zero with Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) and Hydrogen Technologies” ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล ได้รับเกียรติเป็นผู้บรรยายเปิดคนแรกในช่วง “Carbon Capture and Storage” หรือ CCS ภายใต้หัวข้อ “Now and Next: Thailand’s CCS Technology Roadmap” ซึ่งเป็นการสรุปภาพรวมกิจกรรมและแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและเอกชนอื่น และได้นำเสนอแผนที่นำทางเทคโนโลยีของ CCS ของประเทศไทยด้วย ครอบคลุมการดำเนินงานด้าน CCS ของประเทศในปัจจุบันและแผนการดำเนินงานของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะหัวข้อวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองที่สำคัญและเป็นที่ต้องการเร่งด่วน

การประชุมครั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ต่อไปในอนาคต ในงานดังกล่าวมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมกว่า 150 คน

บพข. และ บพค. มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งหาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ การลงทุนร่วมกันในเทคโนโลยี CCUS และเทคโนโลยีไฮโดรเจน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission นอกจากนี้ยังใช้เวทีดังกล่าวในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดีของการส่งเสริมและขับเคลื่อนงานวิจัยและนโยบาย ด้าน CCUS และ ไฮโดรเจน ร่วมกับหน่วยงานวิจัยจากทางสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีมีหน่วยงานวิจัยและเครือข่ายภาคเอกชน ที่มีความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขั้นชั้นนำของเอเชีย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ในงานสัมมนาครั้งนี้จะถูกนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการการส่งเสริมและขับเคลื่อนการวิจัยและนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และไฮโดรเจนของประเทศไทยต่อไป โดยมี บพข. และ บพค. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของประเทศไทย
แกลลอรี่