มช. เสนอแนวทาง Digital Transformation และกฎหมาย กุญแจขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ Innovation University อย่างมั่นคงและยั่งยืนในยุคดิจิทัล
6 มกราคม 2568
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร ในการสัมมนา “ก้าวข้ามโอกาสและความเสี่ยง: แบ่งปันประสบการณ์สู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของมหาวิทยาลัยในยุค AI” (Sharing Experience on University Digital Transformation in the AI Era) จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา) จัดขึ้นโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับ ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยในเครือข่าย Digital University ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมวัฒนธรรมความเสี่ยงในมหาวิทยาลัยภายใต้บริบทยุค AI เพื่อเตรียมพร้อมมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในภูมิภาค
ในการบรรยายครั้งนี้ รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอแนวทาง Digital Transformation และกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยสู่การเปลี่ยนแปลง โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับกฎหมายที่เหมาะสม พร้อมกับการสร้างความเข้าใจและการปรับตัวของบุคลากรในองค์กร เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถก้าวสู่การเป็น Innovation University อย่างมั่นคงและยั่งยืนในยุคดิจิทัล โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
บทบาทของ Digital Transformation และกฎหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ยุคดิจิทัล
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กร รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต
(รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Digital Transformation ในการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
บทบาทของกฎหมายและเทคโนโลยีในการสนับสนุนการพัฒนา
ได้กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายในฐานะกรอบแนวปฏิบัติที่ช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย การนำกฎหมายมาใช้ในลักษณะที่เหมาะสมไม่เพียงช่วยลดข้อจำกัด แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Digital University ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน เช่น ระบบ Paperless การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบ IT Infrastructure เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 13: การวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัย
แผนพัฒนามหาวิทยาลัยในยุทธศาสตร์ที่ 13 (2565-2570) ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญไว้ 6 ด้าน (SO1-SO6):
1. Biopolis Platform: เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
2. Medicopolice Platform: เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ สนับสนุนการวิจัยและบริการทางการแพทย์
3. Creative Lanna Platform: เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนา สร้างสรรค์ ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์
4. Education Platform: เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านด้านการจัดการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการศึกษา
5. Research and Innovation Platform: เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านด้านการวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง
6. Excellence Management Platform: บริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ พัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
การผลักดัน Digital Transformation สู่ Intelligent University
การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลมุ่งเน้นไปที่การสร้าง องค์กรที่คล่องตัว (High Agility Organization) โดยลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กร นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร (High Performance Workforce) และการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนการทำงาน (Intelligent University) เช่น การใช้ระบบเครือข่ายและการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลที่ทันสมัย
เป้าหมายอนาคต: Innovation University
จาก Intelligent University สู่ Innovation University มหาวิทยาลัยได้วางเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้วยแนวคิด Open Innovation การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ (New Education Platform) และการสร้างมหาวิทยาลัยที่ปลอดคาร์บอน (Carbon Neutrality University) รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจใหม่เพื่อสร้างความยั่งยืน
โครงสร้างยุทธศาสตร์ดิจิทัล
การพัฒนาด้านดิจิทัลประกอบด้วย 5 ประการ
1. Digital Strategy: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น Fiber Optics และการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
2. การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล: ใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนและตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
3. Enterprise Application: พัฒนาระบบบริหารจัดการที่ตอบโจทย์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
4. การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล: เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีให้บุคลากรและนักศึกษา
5. การสร้างเครือข่ายพันธมิตร: ส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัยในระดับประเทศและนานาชาติ