โคมลอย-ว่าว : ภาษาและวัฒนธรรม
โดย สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โคมลอย หรือ ที่ภาษาถิ่นล้านนาเรียก ว่าว เป็นสิ่งที่พบเห็นกันโดยทั่วไปในประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงล้านนา สิ่งนี้แต่เดิมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน ไม่มีปัญหา แต่มาระยะหลังเริ่มเกิดความลังเลสับสนเชิงความหมาย ทั้งทางด้านภาษา และวัฒนธรรม
คำว่า “โคมลอย” หากจะกล่าวถึงความหมายในเชิงภาษาก็จำเป็นที่ต้องกล่าวโดยละเอียด เพราะโดยปกติความหมายเดิมของภาษาไทยมาตรฐาน มีความหมายในตัวชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกยืมไปใช้ในบริบทของภาษาถิ่นอื่นอาจมีความแปรไป โดยเฉพาะกรณีศึกษาโคมลอยในฐานะเป็นคำยืมจากภาษาไทยกลางมาใช้ในถิ่นล้านนาจะมีความหมายกว้างขึ้น และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแง่ของคำและความหมายจึงขอยกเอานิยามศัพท์ที่เรียบเรียงไว้ดีแล้วมาเสนอดังนี้
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หน้า ๒๘๐ให้ความหมายไว้ว่า โคมลอย น.ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ
แสดงว่าโคมลอยในภาษไทยภาคกลางเป็นเครื่องตามไฟลอยในอากาศและต้องจุดไฟด้วย แต่เมื่อคำนี้ถูกยืมมาใช้ในล้านนา ความหมายจะกว้างขึ้น กล่าวคือเป็นทั้งลูกโป่งกระดาษและเครื่องตามไฟลอยฟ้า และนอกเหนือจากนี้ ยังมีภาษาเดิมใช้อยู่คือคำว่า ว่าวรม ว่าวไฟ และโคมไฟด้วย ในที่นี้โปรดสังเกตนิยามศัพท์ต่อไปนี้
ในพจนานกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ.๒๕๔๗ หน้า ๑๔๘ ได้ให้ความของโคมลอยว่า
โคมลอย น๑.ดวงโคมซึ่งให้แสงสว่างที่ลอยอยู่ น๒.ลูกโป่งกระดาษขนาดประมาณ ๒ คูณ ๒ เมตรขึ้นไป ทำด้วยกระดาษว่าวสีต่างๆ ด้านล่างมีปาก เมื่อบรรจุควันเต็มที่แล้วก็จะปล่อยให้ลอยขึ้นไปในอากาศ นิยมทำมาปล่อยกันในเวลาสายในเทศกาล ปาเวณียี่เพง หรือลอยกระทง เดิมเรียก ว่าวรม,ว่าวฮม,ว่าวฅวัน และเมื่อเปิดไปดูคำว่า ว่าวรม กับ ว่าวไฟ ในพจนานุกรมเล่มเดียวกัน หน้า ๖๘๑ก็ได้ความหมายว่า
ว่าวรม น.เครื่องเล่นทำด้วยกระดาษ เป็นรูปถุงพองลมสูงและกว้างราว ๒ เมตรหรือมากกว่า ด้านล่างมีปากกว้างราว ๖๐ เซนติเมตร มีหางยาวห้อยลงจากปาก แขวนกระบะบรรจุเครื่งสักการะที่ปาก นัยว่าให้โคมลอยนี้ขึ้นไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อบรรจุควันร้อนเต็มที่แล้วจะปล่อยให้ลอยขึ้นไปในอากาศ นิยมทำในเทศกาล ปาเวณียี่เพง หรือลอยกระทง ว่าวลม,ว่าวฮม,ว่าวฅวัน ก็ว่า ระยะหลังนิยมเรียกโคมลอย
ว่าวไฟ น.เครื่องเล่นทำด้วยกระดาษ เป็นรูปถุงพองลมสูงราว ๑.๓๐ เมตร ลำตัวและปากกว้างราว ๖๐ ซ.ม. ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโครงวงกลม ที่ปากมีก้อนเชื้อเพลิงทำด้วยผ้าหรือกระดาษไขผูกอยู่กลางส่วนปาก เมื่อจุดไฟที่ก้อนเชื้อเพลิง ไอร้อนจะพาว่าวไฟลอยขึ้นไปในอากาศเวลากลางคืน ระยะหลังนิยมเรียกของเล่นนี้ว่า โคมไฟ
กล่าวเฉพาะ “โคมไฟ” พจนานุกรมฉบับเดียวกัน หน้า๑๔๗ ก็ให้ความหมายว่า โคมไฟ น๑. ดวงโคมที่ให้แสงสว่าง น๒.ลูกโป่งกระดาษชนิดที่ปล่อยให้ลอยฟ้าในตอนกลางคืน ลักษณะทรงกระบอก ขนาดประมาณ ๗๐x๑๒๐ ซ.ม. มีก้อนเชื้อเพลิงเผาห้อยอยู่ภายใต้ ศัพท์นี้เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เดิมเรียก ว่าวไฟ
ดังนั้น ข้อสรุปตรงนี้ โคมลอย คือ ว่าวไฟ ของล้านนา ขณะเดียวกันก็หมายถึง ว่าวรม ได้ด้วย ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็มีคำเรียกอีกคำว่า โคมไฟ
ถึงตอนนี้ ข้อสรุปดังกล่าวก็ยังมิใช่ข้อยุติ เพราะความหมายในแนวกว้างของล้านนาดูจะตกอยู่ที่ “ว่าว” ซึ่งอาจเป็นเพราะกระดาษที่ใช้นั้นทำมาจากกระดาษว่าวที่มีคุณลักษณะบางเบาและเหนียว และว่าวที่กำลังกล่าวถึงมี ๒ ลักษณะ คือปล่อยตอนกลางวัน ว่าวชนิดนี้ไม่ติดดวงไฟ ส่วนว่าวที่ปล่อยตอนกลางคืนเป็นชนิดที่ติดดวงไฟ
ว่าวที่ปล่อยตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าวฅวัน ว่าวรม หรือ ว่าวฮม ส่วนว่าวที่ปล่อยตอนกลางคืนเรียกว่า ว่าวไฟ เพราะมีไฟติดไปด้วย ข้อยืนยันในส่วนนี้ คือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ ๑๒ หัวข้อว่า ว่าวสี่แจ่ง ว่าวมน และว่าวไฟ หน้า ๖๒๕๗-๖๒๖๓ ความบางตอนของบทความกล่าวไว้ดังนี้
“ทั้งนี้ว่าว... ชนิดที่ทำเป็นถุงรับความร้อนจากควันไฟเพื่อพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ เรียกว่าว่าวฅวัน ว่าวรม หรือ ว่าวฮม และ “ว่าวไฟ เป็นเครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยด้วยหลักการเดียวกันกับว่าวรม หรือ ว่าวฅวัน เพียงแต่จะปล่อยจะปล่อยว่าวไฟกันเฉพาะในกลางคืนเท่านั้น วิธีทำ ว่าวไฟก็ เหมือนกันกับการทำ ว่าวรม เพียงแต่ว่าวไฟจะมีส่วนปากใหญ่กว่าว่าวรมเท่านั้น” และเพื่อมิให้สับสนปนความหมายกับคำว่า ว่าว ของภาคกลาง สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ได้อธิบายพร้อมแยกแยะให้เห็นความต่างว่า
“ว่าว ในล้านนามี ๒ ประเภท คือชนิดใช้สายเชือกยึดไว้ให้ดึงตัวสูงขึ้นไปในอากาศเรียกว่า ว่าว หรือ ว่าวลม และชนิดที่ทำเป็นถุงรับความร้อนจากควันไฟเพื่อพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้เรียกว่า ว่าวฅวัน ว่าวรม หรือ ว่าวฮม...”
ว่าวฅวัน ว่าวรม ในสารานุกรมฯ อธิบายซ้ำไว้โดยวงเล็บว่า “(อ่าน-ว่าวฮม แต่ก็มีผู้ออกเสียงเป็น “ว่าวลม” และเขียน “ว่าวลม” อีกด้วย)” ดังนั้น ว่าวลม จึงมิใช่ความหมายของ โคมลอย อย่างแน่นอน ส่วนคำว่า “โคมลอย” สารานุกรมฯอธิบายว่า เป็นภาษาไทยภาคกลาง มิใชภาษาล้านนา สาเหตุที่นำมาใช้อาจเป็นความเข้าใจผิด หรือเรียกเช่นนั้นเพราะความไม่รู้ ดังความที่ว่า “ปัจจุบันนิยมเรียก หรือเรียกเพราะไม่รู้ตามแบบภาคกลางโดยเรียก ว่าวฅวัน ว่า “โคมลอย” และเรียก ว่าวไฟ ว่า “โคมไฟ” ทั้งๆที่โคม มีคำแปลที่ชัดเจนว่า เครื่องใช้ที่ให้แสงสว่าง”
มาถึงตอนนี้ คงพอสรุปได้คร่าวๆ ในแง่ของความหมาย เป็นศัพท์ๆ ได้ดังนี้
โคมลอย เป็นเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยไปในอากาศในความหมายของไทยภาคกลางซึ่งตรงกับ ว่าวไฟ ของล้านนา
ว่าวลม ในภาษาล้านนาหมายถึงเครื่องเล่นชนิดหนึ่งทำด้วยกระดาษว่าว มีสายเชือกยึดไว้ให้ดึงตัวสูงข้ึนไปในอากาศที่ภาษาภาคกลางเรียก ว่าว ในขณะเดียวกันก็อาจหมายถึง ว่าวรม เนื่องจากความไขว้เขวในการออกเสียง
ว่าวรม คือลูกโป่งกระดาษ เมื่อจะปล่อยขึ้นไปในอากาศต้องรมด้วยควันไฟเพื่อพยุงตัวให้ลอยขึ้น ว่าวฅวัน หรือ ว่าวฮม ก็เรียก
ว่าวฅวัน คือ ว่าวรม
ว่าวฮม คือ ว่าวรม (ออกเสียง-ว่าวฮม)
ว่าวไฟ ตรงกับ โคมลอย ของภาคกลาง
โคมไฟ เป็นคำที่มาใช้เรียก ว่าวไฟ ด้วยความเข้าใจผิด เพราะโคมไฟคือเครื่องใช้ทั่วไปที่ให้แสงสว่าง
ดังนั้น คำว่า “ว่าว” คำเดียวนี้ เฉพาะภาษาล้านนามี ๒ ความหมาย โดยความหมายแรกคือ ว่าว (ตรงกับภาษาภาคกลาง) ความหมายที่สองคือ ลูกโป่งกระดาษ ซึ่งมีทั้ง ว่าวรม และ ว่าวไฟ
กล่าวโดยสรุปสุดท้าย เฉพาะภาษาไทยถิ่นล้านนา เรียกลูกโป่งกระดาษว่า “ว่าว” และว่าวมี ๒ ประเภท ได้แก่
-ว่าวรม
-ว่าวไฟ
โดยที่ ว่าวรม ปล่อยตอนกลางวัน และ ว่าวไฟ ปล่อยตอนกลางคืน
เมื่อได้ข้อสรุปอย่างนี้ เป็นอันว่าเราจะใช้คำว่า ว่าว เป็นคำหลักเพื่อนำเสนอส่วนประกอบอื่นต่อไป ส่วนแรกที่จะกล่าวคือรูปร่างลักษณะ ซึ่งมีหลายรูปทรงเช่น ทรงสี่เหลี่ยม ทรงกลม และทรงกระบอก โดยเฉพาะทรงสี่เหลี่ยม และทรงกลม ที่มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นว่า ว่าวสี่แจ่ง และ ว่าวมน ส่วนทรงกระบอกนั้นมีมาภายหลังจึงยังไม่มีชื่อเรียก
ว่าวรม นอกจากจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยม หรือทรงกลมแล้วยังมีการปรับปรุงพัฒนารูปร่างให้สวยงาม แล้วแต่จินตนาการและการออกแบบ
สำหรับว่าวไฟ มีรูปร่างคล้ายกันกับว่าวรม ทั้งทรงเหลี่ยมและทรงกลม ส่วนใหญ่จะนิยมทรงเหลี่ยมเพราะทำง่าย และไม่ต้องการความสวยงาม และที่น่าสังเกตคือ ปัจจุบันมีว่าวไฟทรงกระบอกซึ่งน่าจะเลื่อนไหลมาจากถิ่นอื่น ว่าวทรงกระบอกดังกล่าวมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เพียงนำกระดาษว่าวมาติดเป็นทรงกระบอกติดขอบล่างด้วยไม้ไผ่ ติดก้อนไฟที่เป็นก้อนที่เป็เชื้อเพลิงก็ใช้ได้แล้ว
การปล่อยว่าว เฉพาะถิ่นล้านนามักปล่อยในวันยี่เป็ง(เพ็ญเดือนยี่) ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทยภาคกลาง วัตถุประสงค์ของการปล่อยว่าวเป็นไปตามความเชื่อที่ยึดถือกันมากล่าวคือ
คติดั้งเดิม เป็นการบูชาพญานาค เทวดาที่ประทานน้ำฟ้าสายฝน บูชาพ่อเกิดแม่เกิดหรือพระยาแถนหลวงผู้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต
คติพราหมณ์ บูชาเทพเจ้า ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ตลอดจนพระแม่คงคา
คติพุทธ บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี โดยเฉพาะคนเกิดปีเส็ด(ปีจอ) พระอินทร์ พระพรหม พระอุปคุต รวมถึงอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับ
คติทั่วไป เป็นการลอยเคราะห์ ลอยบาป ดังคำที่ว่า “หื้อตกไปโตยไฟ หื้อไหม้ไปในอากาศ หื้อหยาดตกปฐวีคงคา”
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงการปล่อยถึงการปล่อยว่าวเชิงวัฒนธรรมแล้ว หาใช่มีเฉพาะล้านนาที่เดียวไม่ ทางภาคอีสานก็ปรากฏมีการปล่อยว่าวรมที่เขาเรียก “บั้งไฟลม” หรือ “โคมลม” ในงานบุญเดือนสิบเอ็ด คือบุญออกพรรษา ส่วนของภาคกลางจะปล่อยว่าวไฟ(โคมลอย)ในงานเฉลิมฉลอง งานพิธี งานศพ งานบุญ เช่นบวชนาค ทอดกฐิน ส่วนว่าวรม โดยเฉพาะที่เพชรบุรีจะปล่อยในงานศพ โดยเรียกว่าวรมว่า “โคมควัน”
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการปล่อยว่าว หรือโคมลอย ไม่ได้มีเฉพาะถิ่นล้านนา และบทบาทก็มิได้อยู่เฉพาะเทศกาลยี่เป็งเท่านั้น หากแต่ขยายบทบาทออกไปรับใช้สังคมได้อีกหลายงาน กระนั้นเมื่อหวนคิดคำนึงถึงอดีตจริงๆ แล้ว ชาวล้านนาได้ดูได้เห็น โคมลอย หรือ ว่าว เฉพาะเทศกาลยี่เป็ง เพียงแต่มาระยะหลังๆ นี้ ได้เห็นกันเกือบทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานศพ วันเกิด เปิดกีฬา เปิดร้านค้าก็มีให้เห็นกันตลอด และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ ว่าวที่นิยมปล่อยทุกงานจะเป็นว่าวไฟทรงกระบอกทั้งหมด
จริงอยู่การเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ทว่ากิจกรรมทางวัฒนธรรมของสังคมใดย่อมมีที่อยู่ที่เหมาะสมกับบริบททางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ทั้งนี้ก็หมายรวมไปถึงวัฒนธรรมทางภาษาด้วย
สาระเรื่องโคมลอยหรือว่าว ร่ายยาวมาแต่ต้น แก้ความสับสนเรื่องชื่อหรือคำเรียกขาน ทั้งรูปทรงสัณฐาน การคิดค้นประดิษฐ์ตลอดจนถึงข้อคิดด้านกาลเทศะ พอเป็นสาระฝากไว้ อย่างน้อยให้ได้พิจารณา เพื่อช่วยกันต่อยอดในเชิงการศึกษากันต่อไป