ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ (GERIATRIC URINARY INCONTINENCE)

5 กรกฎาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

อายุประมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าผู้สูงอายุ?
จากเดิมเราจะนับคำว่าผู้สูงอายุ เริ่มที่อายุ 50-60 ปี แต่ปัจจุบันการแพทย์ดีขึ้น หากอิงตามองค์การอนามัยโลก ปัจจุบันนับผู้สูงอายุที่ 60-65 ปี เพราะทางประเทศแถบยุโรป การแพทย์ค่อนข้างเจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนมีความแข็งแรง เพราะบางแห่งอายุ 70 ปียังดูแข็งแรง สำหรับประเทศไทยจะใช้ที่ตัวเลข 60-65 ปี จึงเรียกว่าผู้สูงอายุ


อาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุเกิดจากอะไรได้บ้าง?
ความหมายของปัสสาวะเล็ดคือมีการปัสสาวะออกมาโดยที่ไม่สามารถยับยั้งได้ อาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้แต่เราไม่สามารถยับยั้งได้จึงเล็ดออกมา คำว่าเล็ดอาจจะเล็ดออกมาเล็กน้อย หรือออกมาทีเดียวในปริมาณมากเรียกว่าปัสสาวะราด
ในผู้สูงอายุในเรื่องของปัสสาวะเล็ดราดส่วนใหญ่มี 4 แบบ ได้แก่
1. ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีอาการปวดเฉียบพลัน เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะเฉียบพลันก็เล็ดออกมา พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสมอง เช่นอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เส้นเลือดในสมอง ไขสันหลังมีปัญหา อาการเหล่านี้จะมีปัสสาวะเล็ดแบบเฉียบพลัน มักจะพบในผู้สูงอายุที่เป็นผู้ชาย
2. ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันเกิดขึ้นในร่างกายหรือบางทีเรียกว่า ไอ จาม แล้วปัสสาวะเล็ด หรือยกของหนักเปลี่ยนท่าทาง แล้วปัสสาวะเล็ดออกมา มักพบในผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิง มีปัญหาในเรื่องของช่วงล่างที่หูรูดเสื่อม มดลูกหย่อน ช่องคลอดแห้ง เป็นเหตุให้ไอ จาม แล้วเกิดปัสสาวะเล็ด
3. ในผู้สูงอายุ 1 ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอาจเกิดได้ทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน คือ ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีอาการปวดเฉียบพลัน และปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันเกิดขึ้น ปัสสาวะเล็ดแบบนี้รักษาไม่ง่ายนัก
4. การปัสสาวะเล็ด ที่มีสาเหตุเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวน้อย กระเพาะปัสสาวะเหมือนคนเราเมื่ออายุมากขึ้นจะแก่ตามวัย จะเคลื่อนไหวน้อยลง บีบตัวน้อยลง ถ้าเป็นผู้สูงอายุกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวได้น้อย และช้าลง ทำให้ปัสสาวะเหลือค้างได้มาก เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ปัสสาวะไม่ออกจนทำให้เล็ด (เพราะล้นออกมา) จึงเป็นปัสสาวะเล็ดอีกแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุพบได้บ่อยแค่ไหน?
จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุมีรายงานการเกิดปัสสาวะเล็ดบ่อยกว่าผู้ที่ยังไม่สูงอายุ โดยคนอายุน้อยจะมีอาการเหล่านี้ร้อยละ 10-20 ถ้าเป็นผู้สูงอายุ จะมีอาการถึง 2 เท่า เป็นร้อยละ 20-40 เมื่อเป็นผู้สูงอายุที่รักษาตัวในโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และผู้สูงอายุที่อยู่ในไอซียู มีปัญหาปัสสาวะเล็ดเกินร้อยละ 50


ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุมีสาเหตุจาก?
1. ปัสสาวะเล็ดราดที่เกิดจากโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หูรูดท่อปัสสาวะเสื่อม ต่อมลูกหมากโต และรูรั่วทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
2. ปัสสาวะเล็ดที่เกิดจากความสูญเสียสมรรถภาพอย่างอื่น เช่น ในการเดิน หรือการช่วยเหลือตัวเองอย่างผู้สูงอายุที่มีสายตามัวมองอะไรไม่เห็น เข่าเสื่อม เป็นพาร์กินสัน ทำให้ไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน เป็นต้น


ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่?
ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และอาจมีปัญหาใหญ่แฝงอยู่เช่น ปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท ถึงแม้จะเล็ดออกมาแต่ส่วนหนึ่งที่ยังไม่เล็ดย้อนกลับไปที่ไตและทำให้ไตวายได้


กระเพาะปัสสาวะที่ดีต้องมีลักษณะอย่างไร?
กระเพาะปัสสาวะที่ดีต้องมีแรงดันต่ำและปัสสาวะออกให้หมด ต้องรองรับน้ำปัสสาวะได้มาก ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างน้อยต้องจุได้ 400-500 ซีซี ขึ้นไป และแรงดันจะต้องต่ำ เพื่อให้น้ำปัสสาวะจากไตลงมาที่กระเพาะปัสสาวะง่ายที่สุด ถ้ากระเพาะปัสสาวะผิดปกติจากระบบประสาทแรงดันจะสูง ปัสสาวะออกไม่หมด ทำให้แรงดันกลับขึ้นไปและทำให้ท่อไตบวมสุดท้ายทำให้ไตวายได้ อายุก็จะสั้นลง นอกจากนี้ผู้สูงอายุจะมีโรคประจำตัวหลายอย่างด้วยกัน เช่นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ รวมถึงยาประจำตัวบางตัวที่รับ

ประทานอาจทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
การตรวจวินิจฉัยปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุเป็นเรื่องยุ่งยากหรือไม่?
เมื่อผู้สูงอายุเข้าพบแพทย์ด้วยปัญหาปัสสาวะเล็ด หมอจะทำการตรวจโรคทั้งหมดของผู้สูงอายุว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และตรวจร่างกายทั้งหมดให้ละเอียดโดยเฉพาะเรื่องของกระเพาะปัสสาวะว่าค้างอยู่ไหม หรือปัสสาวะเหลือค้างอยู่ไหม และเช็คยาที่รับประทานว่าผู้ป่วยรับประทานยาอะไรบ้างที่เป็นผลกระทบทั้งด้านดีและไม่ดีต่อระบบปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษา


ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
– ซักประวัติทั่วไป ความถี่ ความรุนแรงของปัสสาวะเล็ด และอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่างอื่นๆ
– ตรวจยาประจำตัวว่าทานยาอะไรบ้าง เพราะยาบางตัวอาจะส่งผลให้หูรูดไม่ดี ยาบางตัวทำให้ไอได้
– ตรวจร่างกายโดยรวม แพทย์จะคลำหน้าท้องเพื่อตรวจกระเพาะปัสสาวะว่าค้างหรือไม่ ถ้ากระเพาะปัสสาวะค้างแสดงว่าปัสสาวะที่เล็ดออกมาส่วนใหญ่มาจากกระเพาะปัสสาวะทำงานน้อย ผู้ป่วยลักษณะนี้มักจะทำการรักษาไม่หาย แต่มีวิธีรักษาให้บรรเทาอาการลงได้
– ถ้าเป็นผู้ชายจะตรวจดูต่อมลูกหมากว่าโตหรือไม่ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีการตรวจภายในเพื่อตรวจดูว่าช่องคลอดแห้งหรือไม่ อาจต้องมีการให้ฮอร์โมนเสริม
– ตรวจว่ามีปัสสาวะเหลือค้างหรือไม่ ปกติเมื่อหลั่งปัสสาวะแล้วจะมีปัสสาวะเหลือค้างได้ไม่เกิน 50-100 ซีซี แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุอาจเหลือค้างได้ถึง 200 ซีซี
– ส่งตรวจปัสสาวะ เพราะบางรายอาจมีการติดเชื้อปัสสาวะร่วมด้วย ถ้าเกิดเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแล้วทำให้ปัสสาวะเล็ด แพทย์ต้องทำการรักษา แต่ในผู้สูงอายุถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะโดยที่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบโดยบังเอิญ แล้วไม่มีความเสี่ยงอย่างอื่น ไม่ต้องทำการรักษา
– ส่งตรวจปัสสาวะเพื่อเพาะเชื้อ เพราะพบการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้บ่อยในผู้ป่วยปัสสาวะเล็ด
– ส่งตรวจหาค่าไต ซึ่งส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุมักจะมีการตรวจหาค่าไตด้วยแพทย์อายุรกรรม จึงอาจจะไม่ต้องเจาะเลือดเพิ่ม
– ส่งตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติมเพื่อตรวจดูรูปร่างของไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก อาจพบนิ่ว หรือเนื้องอกได้
– ส่งตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะในหูรูด โดยการตรวจทางปัสสาวะพลศาสตร์ กรณีมีข้อบ่งชี้ในการตรวจ
การดูแลรักษาเบื้องต้นสำหรับปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุ
เมื่อตรวจดูแล้วไม่เกิดจากโรคร้ายแรงอาจจะมีอาการตามวัย บุตรหลาน หรือญาติ สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นได้ดังนี้
– ให้ควบคุมการดื่มน้ำ ให้ดื่มน้ำแต่พอดีไม่น้อยหรือมากเกินไป ถ้าดื่มน้ำน้อยจะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่าย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ดื่มน้ำ 1.2-1.5 ลิตรต่อวัน แต่ไม่ควรเกิน 2 ลิตร
-หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ของหวาน เพราะจะทำให้น้ำปัสสาวะมีปริมาณมาก และกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
– งดสูบบุหรี่
– หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น เช่น ยาแก้หวัดบางตัว
– ดูแลเรื่องการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นปกติ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
– เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ไม่ให้หมักหมม อาจทำให้ติดเชื้อได้
– ผู้ชายให้มีกระบอกปัสสาวะ อยู่ใกล้ๆ ควรอยู่ใกล้บริเวณห้องน้ำ


หากผู้สูงอายุที่บ้านของท่านมีปัสสาวะเล็ดมากจนกระทบต่อคุณภาพชีวิตและหรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน ควรพาท่านไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และรักษาต่อไป อาการปัสสาวะเล็ดจะดีขึ้น อาจไม่หายขาด แต่จะปลอดภัยต่อสุขภาพของท่าน


ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.พิษณุ มหาวงศ์
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่