ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครนายก ศรีสะเกษ และนครสวรรค์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร (เพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมอินทนิล สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาผู้ที่เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศมีรายได้ที่สูงขึ้น จึงได้นำเอาเทคโนโลยีลำไอออนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี จึงได้พันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพหลากหลายสายพันธุ์อันจะตอบสนองต่อความต้องการใช้งานในหลายรูปแบบ และได้นำข้าว ลำไอออนดังกล่าวขยายผลสู่เกษตรกรภายใต้การบริหารจัดการแบบ “มช.-ราชบุรี โมเดล” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวใน ที่มีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท/ไร่ เน้นการตลาดนำการผลิต ดูแลชาวนาสมาชิกครบวงจรแบบปิด และควบคุมคุณภาพข้าวตลอดการผลิต ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดดี และมีตลาดรองรับแน่นอน จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่
1. ข้าวหอมเพื่อการบริโภค พันธุ์ มช 10-1 หรือ FRK-1
2. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง พันธุ์ ศฟ 10-5 หรือ MSY-4
3. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พันธุ์ ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23
ซึ่งจากการเพาะปลูกข้าวลำไอออนทั้ง 3 สายพันธุ์ในช่วงปี 2562 และ 2563 ที่ผ่านมา พบว่าข้าวปรับตัวได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพเมล็ด เป็นที่พึงพอใจของเกษตกรและผู้ประกอบการข้าว จึงได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกใน “มช.-ราชบุรี โมเดล” สู่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชัยนาท ปทุมธานี ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และอุตรดิตถ์
การนำข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ดังกล่าวไปขยายผลในพื้นที่ จะสร้างแรงจูงใจและสร้างความหวังให้ชาวนาเชื่อมั่นในอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย แต่ยังเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพชาวนาอีกด้วย

รูปที่ 1 การขยายผลและติดตามข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ ได้แก่ 1) ข้าวเจ้าหอม มช 10-1 เพื่อการบริโภค 2) ข้าวเจ้า ศฟ 10-5 เพื่ออุตสาหกรรมแป้ง และ 3) ข้าวเจ้า ศฟ 10-7
เพื่ออาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ ณ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และ ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
รูปที่ 2 การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่
ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกร ณ ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย