คลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่ เป็นดั่ง “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”

28 ธันวาคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มช. จับมือภาครัฐ เดินหน้าพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน ภายใต้ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”


         รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานคณะทำงานศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “คลองแม่ข่า” ถือว่าเป็นคลองดั่งเดิมและเป็นคลองหลักของตัวเมืองเชียงใหม่ ในอดีตเป็นคลองที่ใช้ในการเกษตร การระบายน้ำ และสันทนาการ มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีต้นกำเนิดมาจากแถบอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย ลำห้วยแม่ชะเยือง และห้วยตึงเฒ่า ไหลผ่านเมืองมาตอนบนแล้วลงมาตอนล่าง รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- ช่วงต้นน้ำ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ระยะทาง 8.19 กิโลเมตร
- ช่วงกลางน้ำ อยู่ในเขตพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ระยะทาง 10.20 กิโลเมตร
- ช่วงปลายน้ำ มีการเชื่อมต่อกับน้ำแม่ข่าน้อย อยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง ระยะทาง 12.00 กิโลเมตร

 


           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คลองแม่ข่ามีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากมีการบุกรุก ครอบครองพื้นที่ข้างคลอง ประกอบกับน้ำเสียต่างๆ ของพื้นที่ชุมชน มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง คลองแม่ข่าจึงทำหน้าที่ระบายน้ำเสียและระบายน้ำหลากในพื้นที่ทำให้สภาพคลองทรุดโทรม เปรียบเสมือนคลองที่เกือบตายแล้ว คือ น้ำเสีย น้ำสกปรก ดำ และคุณภาพน้ำต่ำที่สุด ประกอบกับมีน้ำต้นทุนน้อย จนเมื่อ ปี พ.ศ. 2555 ทางจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ผลักดันให้เกิดพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่า มีการจัดทำแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉนับที่ 1 (พ.ศ.2555- 2560) พร้อมได้ดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่าตามแผนมาตลอด และได้ร่วมกันกำหนดแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉนับที่2 (พ.ศ.2561- 2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข” โดยมีเป้าหมายผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ คือ ปริมาณน้ำดีที่ไหลในคลองมากกว่า 1 ลบ.ม./วินาที คลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำดี Water Quality Index (WQI) มากกว่า 30 สภาพแวดล้อมสองฝั่งคลองแม่ข่า ได้รับการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม และประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาคลองแม่ข่า
จากการทุ่มเทของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันคลองแม่ข่าได้รับการพัฒนาและฟื้นฟู จนสภาพคลองดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพของคลองและภูมิทัศน์ริมคลองสวยงามขึ้น การลุกล้ำคลองได้รับการแก้ไขเกือบหมด น้ำในคลองมีคุณภาพที่ดีสะอาดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่การจะทำให้คลองแม่ข่าพลิกฟื้นอย่างเบ็ดเสร็จพร้อมรับแขกบ้านแขกเมืองได้นั้นยังต้องเร่งดำเนินพัฒนาคลองในระยะต่อไป


       ทางศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนด Time line และแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคลองแม่ข่าแบบมุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จโดยเร็ว โดยมี 4 กิจกรรมสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
      1. การบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้ไหลสู่คลองอย่างเพียงพอในทุกช่วงฤดูกาล เพื่อให้น้ำที่คุณภาพดีไหลในคลองตลอดเวลา เป็นการรักษานิเวศน์ทางน้ำ
      2. การดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้สวยงามโดดเด่นโดยเฉพาะในเขตเมือง จัดหาจุดสำคัญที่มีพื้นที่กว้างริมคลองแม่ข่าและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็น Land Mark ของแต่ละพื้นที่ และดูแลสภาพคลอง กำจัดวัชพืช ขุดลอกลำคลองที่ตื้นเขิน อย่างต่อเนื่อง
     3. ทำการสำรวจและออกแบบรายละเอียดระบบรวบรวมน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่คลองแม่ข่าเพื่อนำไปขอรับการสับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างระบบแล้วเสร็จ จะไม่มีน้ำเสียไหลลงคลองแม่ข่าทำให้คลองแม่ข่ามีน้ำคุณภาพดีและสะอาด
     4. การจัดหาพื้นที่และที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่อาศัยหรือบุกรุกพื้นที่ในเขตคลองแม่ข่าที่จะถูกโยกย้ายออกไป โดยผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างการมีจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลองแม่ข่าของประชาชน เยาวชน ชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความสำคัญที่จะทำให้การรักษาคลองแม่ข่ามีความยั่งยืน เมื่อวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมฮอมปอยยี่เป็งแม่ข่างาม สายน้ำแห่งไชยมงคล ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแม่ข่ามีความเข้าใจในคุณค่าและความหมายของประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามเกี่ยวกับแม่น้ำ เพื่อขจัด ละเลิก สิ่งที่ไม่ดีงามต่าง ๆ ที่เคยได้กระทำกับแม่น้ำข่า เช่น การทิ้งขยะมูลฝอย การปล่อยน้ำเสีย การทำความสกปรกให้แม่น้ำ เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้บังเกิดแก่ชีวิตและร่วมกันฟื้นฟูน้ำน้ำแม่ข่า ให้กลับมาเป็น “แม่ข่ามหานที สายน้ำแห่งไชยมงคลของเมืองเชียงใหม่”
การฟื้นฟูคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่ ให้ฟื้นคืนเป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตล้านนา ประวัติศาสตร์และมรดกธรรมชาติอันล้ำค่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”