The Role of Civil Society Network in Promoting Organic Food as a Path to Food Security in Chiang Mai, Thailand

13 กรกฎาคม 2566

คณะสังคมศาสตร์

จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีความตื่นตัวเรื่อง ‘ความปลอดภัยด้านอาหาร (FOOD SAFETY)’ ในระดับสูง ทั้งในกลุ่มผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนภาคประชาสังคมที่ให้ความสนใจครอบคลุมไปสู่เรื่อง 'ความมั่นคงด้านอาหาร (FOOD SECURITY)' ‘ผศ.ดร.สิญา อุทัย’ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา ได้ให้ความสนใจและศึกษาบทบาทของเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ต่อการทำงานในเรื่องดังกล่าว...

ความมั่นคงทางอาหาร?

องค์กรระหว่างประเทศอย่าง FAO (Food and Agriculture Organization) ได้สร้างวาทกรรมหลักไปกำหนดความหมายความมั่นคงทางอาหารไว้ 4 หลักการ ได้แก่

  • การมีอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคในทุกวัน
  • โภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร
  • การเข้าถึงอาหารอย่างสมํ่าเสมอ การได้กินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและมีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
  • สร้างความยั่งยืนทางอาหาร

ในภาคองค์กรประชาสังคมจะมีแนวคิดอื่นๆ ที่นอกเหนือวาทกรรมกระแสหลัก คือ มองอาหารให้เป็นระบบอาหาร (Food system) มีองค์ประกอบตั้งแต่ต้นการผลิต ที่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกร นํ้า ดิน อากาศ การนำผลผลิตเข้าสู่การแปรรูป การขนส่ง จนมาถึงปลายทางผู้บริโภค?

โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาการทำงานของภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งระบบ ซึ่งมีภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้เกษตรอินทรีย์เป็นแนวคิดหลัก เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงแต่การไม่ใช้สารพิษในการเพาะปลูกเพราะในดินยังมีสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ แต่เป็นการทำให้ผลผลิตปนเปื้อนน้อยที่สุด

สถานการณ์ปัจจุบันของอาหารออร์แกนิกในเชียงใหม่

ปัจจุบันผู้คนส่วนมากในจังหวัดเชียงใหม่หันมาสนใจการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องอาหารผู้บริโภคยังทราบเพียงอาหารออร์แกนิก คือ อาหารที่ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แต่ระดับของความปลอดสารพิษมีความแตกต่างกันเช่น ในห้างสรรพสินค้าบางแห่งผักแต่ละชนิดจะมีการแบ่งระดับความปลอดภัยจากสีของสติกเกอร์ ดังนั้นภาคประชาสังคมควรหาวิธีการให้ความรู้เรื่องอาหารแก่ผู้บริโภคให้มากขึ้น

ความท้าทายของการทำวิจัยนี้

การทำงานกับภาคประชาสังคมที่หลากหลาย รูปแบบของการทำงานและสังคมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การดำเนินการวิจัยอาจเกิดปัญหาได้ อีกทั้งแต่ละภาคประชาสังคมมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เป็นความท้าทายว่าจะส่งผ่านแนวความคิดระหว่างบุคลากรในภาคประชาสังคมกับนักวิจัยได้อย่างไร

เศรษฐกิจมีผลต่อการเข้าถึงอาหารออร์แกนิก

ในบางจังหวัดไม่มีพื้นที่เพียงพอในการทำเกษตรกรรมทำให้ต้องนำเข้าอาหารจากพื้นที่อื่น จึงมีต้นทุนในการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เมื่อมองในบริบทของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต
มาจนถึงปลายทาง มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้ราคาของอาหารแพงขึ้นแต่เมื่อมองในบริบทของจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ทำให้สามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้
แต่จะเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่อาศัยอยู่เขตตัวเมืองไม่สามารถหาอาหารราคาถูกได้ โดยผู้บริโภคเหล่านี้มักจะซื้ออาหารออร์แกนิกในซุปเปอร์มาร์เก็ตทำให้ได้รับอาหารในราคาแพง ดังนั้นการขับ
เคลื่อนระบบอาหารของภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ควรเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งหาซื้ออาหารออร์แกนิกที่ราคาไม่แพงในเมือง

ประโยชน์ที่ได้รับ

เกษตรกรจะมีสุขภาพดีด้วยจากแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องเผชิญกับการรับสารเคมีจากการทำเกษตรในรูปแบบของการเกษตรที่ใช้สารเคมี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารเคมี
เหล่านั้นจะเข้าสู่ร่างกายของเกษตรกร

ในเชิงวิชาการ ผู้ที่สนใจศึกษาด้านนี้ สามารถต่อยอดวิจัยนี้ไปในจังหวัดอื่นๆ เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงการทำงานด้านความมั่นคงทางอาหารในจังหวัดของตัวเองได้จากผลการทำงาน อุปสรรคและ
ข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นในงานชิ้นนี้


สัมภาษณ์และเรียบเรียง : นายธวัชชัย กมลชนก นักศึกษาสาขาวิชาอาเซียนศึกษา : โครงการทุนปฏิบัติงาน (Part-Time Scholarships)

จัดทำโดย หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่