แง้มประตูสู่อดีตของ “ศาลาธรรม”

5 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

         ประตูสีแดงที่มักจะปิดอยู่เสมอ คือภาพจำของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับ “ศาลาธรรม” สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชวนให้สงสัยว่าเบื้องหลังบานประตูศาลาธรรมนั้นมีอะไรมากกว่าห้องที่ว่างเปล่าหรือไม่?

     ในปีหนึ่ง ๆ มีบางโอกาสที่ประตูศาลาธรรมจะแง้มออกให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายในที่ไม่ใช่ห้องว่างเปล่าเสียทีเดียว แต่ในอาคารนี้มีสิ่งของสำคัญ 2 สิ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องราวจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันวาน ของสำคัญสิ่งแรกถูกบรรจุปิดทับไว้ในผนังด้านซ้ายของป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในตัวอาคารศาลาธรรม (ด้านขวาของภาพ) นั่นคือ แผ่นศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นบทบันทึกประวัติความเป็นมา ความศรัทธา และความเชื่อ บนพื้นที่ของ “ตึกมหาวิทยาลัย” ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกขานว่า “ศาลาธรรม” นั่นเอง

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     ก่อนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเริ่มเปิดการเรียนการสอน พ.ศ. 2507 ในช่วง พ.ศ. 2505 คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้มีการวางแผนสร้าง “ตึกมหาวิทยาลัย” หรือ University Building เพื่อเป็นที่ทำการของผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมไปถึงแผนกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ตึกนี้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มีความงดงามแบบไทย ๆ และสามารถมองเห็นได้เด่นชัดตั้งแต่ทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย จึงได้มีการตัดถนนใหญ่เพื่อมุ่งตรงไปยังตึกดังกล่าวนี้ หลังจากตกลงเรื่องสถานที่และรูปแบบแล้ว ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ตึกมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นสิริมงคล


      การวางศิลาฤกษ์เป็นพิธีกรรมที่มาจากความเชื่อในทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ถือปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี โดยการนำแผ่นหินจารึกดวงฤกษ์ของสถานที่นั้น ๆ ไปบรรจุไว้ในจุดที่กำหนดไว้ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคาร สำหรับศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแผ่นหินที่จารึกดวงชะตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการคำนวณดวงฤกษ์ของมหาวิทยาลัยตามความเชื่อในวิชาโหราศาสตร์ไทย และกำหนดให้เป็น “ราชาฤกษ์” ซึ่งเป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับราชการงานเมือง การประกอบกิจของบุคคลสำคัญต่าง ๆ โดยจุดที่วางศิลาฤกษ์ อยู่ใต้สะพานทางเดินเข้าสู่ตึกศาลาธรรมในปัจจุบัน

มีการสร้างสะพานไม้ข้ามจุดวางศิลาฤกษ์ไปยังตัวอาคาร

แบบร่างแรกของตึกมหาวิทยาลัย (ศาลาธรรม)

ผังอาคารตึกมหาวิทยาลัย
(ภาพจากหนังสืออนุสรณ์งานรับพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร)


       อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า แนวความคิด ในการสร้างตึกมหาวิทยาลัยให้มีความสวยงาม และเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ไม่สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยของอาคาร เนื่องจากเมื่อเปิดทำการแล้ว จะมีผู้คนมาใช้บริการที่ตึกนี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงลงความเห็นว่า “ความพลุกพล่านกับความงามเด่นจะอยู่ด้วยกันไม่ได้” จึงให้แยกสร้างตึกมหาวิทยาลัย และตึกอำนวยการออกจากกัน โดย “ตึกอำนวยการ” หรือ Administration Building สร้างเป็นสำนักงานสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เมื่อมีงบประมาณเหลือจึงนำมาสร้าง “ตึกมหาวิทยาลัย” โดยในช่วงแรกสร้างเฉพาะตึกด้านหลังไปก่อนเพื่อรองบประมาณในปีถัดไป

ตึกมหาวิทยาลัยเมื่อแรกสร้าง
(ภาพจากหนังสืออนุสรณ์งานรับพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร)



หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้ออกแบบศาลาธรรม


    “ตึกด้านหลัง” ที่ว่านี้เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถง กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร โดยสถาปนิกผู้ออกแบบตึกมหาวิทยาลัยคือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร และ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นผู้ช่วยสถาปนิก หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมเป็นอดีตหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และอดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการออกแบบอาคารทรงไทยเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากผลงานการออกแบบที่สำคัญของท่าน เช่น ศาลาเฉลิมกรุง, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นต้น

      ตึกมหาวิทยาลัยนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2507 ในระหว่างที่รองบประมาณเพื่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ ได้มีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินชั่วคราว จากวงเวียนสระน้ำไปยังตัวตึก แต่ในที่สุดตึกนี้ ก็ไม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามแบบที่วางไว้ เนื่องจากใน พ.ศ. 2507 มีการเปลี่ยนโครงสร้างของมหาวิทยาลัย จึงต้องใช้ตึกอำนวยการ (สำนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เป็นสำนักงานของผู้บริหารแทน ส่วนตึกมหาวิทยาลัยที่สร้างไว้แล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลาธรรม” ใช้สำหรับจัดกิจกรรมสำคัญในทางพุทธศาสนาและงานสำคัญของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเคยใช้เป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระราชอิริยาบถของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ณ ศาลาอ่างแก้ว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ณ ศาลาอ่างแก้ว

 

    นอกจากนี้ เรื่องราวของศาลาธรรมยังมีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพยากรณ์ดวงชะตามหาวิทยาลัยจากดวงวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการไขคำตอบว่า ทำไมแผ่นศิลาฤกษ์จึงได้ถูกย้ายไปบรรจุบนผนังศาลาธรรมในเวลาต่อมา


     จากการให้สัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ สุรฤกษ์ แห่งภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช. ได้ระบุไว้ในหนังสือ “ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากความทรงจำของอาจารย์รุ่นแรก” ว่า ครั้งหนึ่งคุณพ่อของท่านคือ พลตรี พิสนห์ สุรฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้ตรวจวิเคราะห์ดวงชะตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างถี่ถ้วน ภายหลังจากที่มีการวางศิลาฤกษ์และสร้างตึกมหาวิทยาลัยแล้ว พบว่ามีข้อติติง 2 ประการ ข้อแรกคือ ดวงวางศิลาฤกษ์ มช. และข้อที่สอง จุดที่วางศิลาฤกษ์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เพราะมีการสร้างบันไดศาลาธรรมคร่อมแท่นวางศิลาฤกษ์ไว้

      ในการแก้ไขดวงชะตาฤกษ์นั้น พลตรีพิสนห์ได้เสนอแนะให้มหาวิทยาลัยจัดพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย และขอให้ทางมหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เสด็จพระราชดำเนินมาในงานดังกล่าว อีกทั้งเสนอแนะให้มีการตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

พิธีตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


      ต่อมาได้มีการตั้งศาลพระภูมิขึ้นที่ด้านหน้าศาลาธรรมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2507 โดยมี พลตรี พิสณห์ สุรฤกษ์ เป็นผู้กำหนดฤกษ์ในการจัดตั้ง ส่วนตำแหน่งของแผ่นศิลาฤกษ์นั้น ได้มีการย้ายแผ่นศิลาฤกษ์ขึ้นไปบรรจุในผนังด้านหนึ่งของศาลาธรรม ในช่วงที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ. 2514 - 2516

พระพุทธทศพลชินราช และพระพุทธพิงคนคราภิมงคล พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ส่วนพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น จะเห็นว่าในปัจจุบันด้านหลังศาลาธรรมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2 องค์ ที่ทำให้บรรยากาศของศาลาธรรมมีความสงบร่มเย็น พระพุทธรูปองค์ที่ประทับอยู่ด้านหลัง คือ “พระพุทธทศพลชินราช” เป็นพระพุทธชินราช ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว ที่อัญเชิญจากวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร มาประดิษฐานที่ศาลาธรรม ในโอกาสครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2528 และต่อมาใน พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธทศพลชินราช” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ส่วนองค์ที่ประทับด้านหน้าคือ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการจัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2539 ใน 2 วาระสำคัญ คือ ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเป็นปีที่เมืองเชียงใหม่ มีอายุครบ 700 ปี โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ประทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาทรงเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2540 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธพิงคนคราภิมงคล (จำลอง) แด่พระองค์ท่านด้วย


ป้ายแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


     สิ่งของสำคัญอย่างที่สองที่อยู่ภายในห้องโถงศาลาธรรมคือ ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยประดับอยู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปีแรกที่ มช. เปิดสอน ใน พ.ศ. 2507 โดยผู้ออกแบบจัดทำคือ อาจารย์ประสงค์ ปัญญาเพชร อาจารย์โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ได้ออกแบบตัวอักษรเป็น “ตัวโป้ง” (หมายถึงตัวพิมพ์อักษรไทยขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ นิยมใช้พิมพ์ชื่อเรื่อง หรือโปรยหัวข่าวของหนังสือพิมพ์) ที่เว้นระยะช่องไฟระหว่างตัวอักษรอย่างพอเหมาะพอดี และแกะสลักลงบนป้ายไม้สักอย่างสวยงามว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” และต่อมาจึงได้เพิ่มเติมชื่อภาษาอังกฤษ และภาษาล้านนาลงไป

     สำหรับที่มาของชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น แต่เดิมธรรมเนียมการตั้งชื่อสถาบันการศึกษาในประเทศไทย มักจะตั้งตามพระนามของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานกำเนิดสถาบันนั้น หรือตั้งชื่อตามสาขาวิชาหลักที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ แต่สำหรับชื่อ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” นั้น กลับแตกต่างออกไป ดังที่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บันทึกถึงที่มาของการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยว่า มช. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งชื่อตามชื่อจังหวัด เนื่องจากเป็นความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และชื่อนี้ก็ได้รับการสลักอยู่บนป้ายด้านหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัย ริมถนนห้วยแก้วว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”


ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่โดยศิษย์เก่า มช. รหัส 13

     หลังจากกรำแดดกรำฝนมายาวนานถึง 45 ปี ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงได้มีการปลดป้ายดังกล่าวลง และจัดทำขึ้นใหม่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัส 13 จนกระทั่งได้ทำพิธีเปิดป้ายใหม่ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบัน ป้ายดังกล่าวนี้ยังคงประดับอยู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยอย่างงดงามและสมศักดิ์ศรี ส่วนป้ายเดิมที่ทำหน้าที่มายาวนาน ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องโถงของศาลาธรรม ซึ่งจะเปิดใช้งานในโอกาสสำคัญเท่านั้น เช่น วันสถาปนามหาวิทยาลัย วันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น


      แม้ในอดีตอาคารตึกมหาวิทยาลัยหลังนี้จะไม่ได้รับการก่อสร้างให้สมบูรณ์แบบตามแผนที่วางไว้ แต่กลับเป็นอาคารที่มีความโดดเด่น งดงาม ลึกซึ้ง ด้วยคุณค่าของอดีตเกี่ยวกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทุกคนสามารถเดินเข้ามาสัมผัสได้…เพื่อเรียนรู้อดีต และเพื่อรู้จักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ถ่องแท้มากขึ้น บนพื้นที่ของ “ศาลาธรรม” ที่ซึ่งคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมทรงไทยกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์แวดล้อมอย่างลงตัวและเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว... ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2508
- หนังสืออนุสรณ์งานรับพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
- หนังสือประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากความทรงจำของอาจารย์รุ่นแรก
- หนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ประมวลข่าวรายเดือนของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507