Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. : ผ้าลายจกโหล่งลี้ มรดกสายเมือง จังหวัดลำพูน

28 กุมภาพันธ์ 2562

คณะวิทยาศาสตร์

วีดิโอคลิปผ้าลายจกโหล่งลี้


วีดิโอคลิปผ้าลายจกโหล่งลี้ (Full version)


บทสัมภาษณ์นักวิจัย รศ.ดร.ณัฐกร สุคันธมาลา ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"เริ่มทีเดียว ก็มีโอกาสได้เอาผ้าโบราณที่เราสะสมเอาไปจัดแสดง แล้วก็มีช่างทอกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นช่างทอรุ่นใหม่เค้าก็สนใจที่อยากจะสืบทอด เราก็เห็นว่า เราน่าจะทำอะไรให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วก็ช่วยเหลือเค้าได้ดีกว่านี้ เราก็เลยรวบรวมลายผ้าของเราทั้งหมด ทำเป็นรูปเล่มขึ้นมา (“ผ้าจกโหล่งลี้” มรดกทางวัฒนธรรม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) ตอนหลังทางลี้เค้าเริ่มที่อยากจะพัฒนา แล้วก็ฟื้นฟูของเค้าด้วย

จริงๆ แล้วลี้เค้าหยุดทำผ้าแบบนี้ไปนานแล้ว ตัวเค้าเองก็ลืมไปแล้วว่ามีผ้าแบบนี้อยู่ เค้าทอซิ่นตีนจกอยู่ในสมัยโบราณ หยุดไปจนทุกคนลืมแล้ว แม้กระทั่งคนลี้ก็ไม่รู้ว่าเค้ามีผ้าแบบนี้อยู่

จากนั้นก็เลยร่วมมือกับทางองค์การส่วนบริหารจังหวัดลำพูน และทางเทศบาลตำบลลี้ ก็มาปรึกษาหารือกันว่าจะฟื้นฟูตรงนี้ได้ยังไง โดยเฉพาะจะขอยืมลายผ้าโบราณของเราไปให้ช่างทอเค้าได้สืบทอด ก็เลยเป็นที่มาของโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าลายจกโหล่งลี้ตรงนี้ขึ้นมา กรรมวิธี หรือขั้นตอนก็ไม่ได้ยาก เป็นคณิตศาสตร์ธรรมดา คือการถอดแบบลายผ้าลงกราฟ

แต่ขั้นตอนการถอดแบบก็ไม่ใช่ว่าใครๆ จะทำได้ทุกคน คืออย่างน้อยที่สุด จะต้องทอผ้าเป็น วิธีทำของเราก็คือ การที่จะสืบทอด หรือว่าการที่จะก็อปปี้ลาย หรือว่าการที่จะรีเมค หรือว่าผลิตใหม่ขึ้นมา ก็จะต้องเอาผ้าชิ้นเดิมเอาไปนั่งดู แล้วก็นับเส้น ทางช่างทอเค้าเรียกเส้นพุ่ง เส้นยืน ต้องนับเส้นกันเลยว่าจะต้องเอากี่เส้น ขึ้นกี่เส้น ลงกี่เส้น คราวนี้คนเขียนกราฟก็เหมือนกัน ก็จะต้องทอเป็น เพราะว่าจะต้องนับเส้นเป็น

จากนั้นเราก็รวบรวมเป็นรูปเล่มขึ้นมา ทำการผลิต โดยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การส่วนบริหารจังหวัดลำพูน ส่วนหนึ่ง แล้วก็ทุนส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง เผยแพร่ให้กับชาวบ้าน ตอนนี้เค้าก็จัดเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างที่เห็นตรงนี้ ถือว่าพัฒนาไปได้มาก

ก็อยากจะฝากทุกสาขา ไม่ใช่แต่เฉพาะวิทยาศาสตร์ หรือว่าคณิตศาสตร์ หรือว่าฟิสิกส์ เคมี คือทุกวันนี้เรามุ่งที่จะทำแต่วิจัยที่มันดูดี ดูมีองค์ความรู้ แต่บางทีเราก็ลืมที่จะไปทำให้ชาวบ้านเค้าใช้ได้จริงๆ อะไรที่ทำได้ก็ช่วยเหลือชาวบ้านไป เพราะว่าเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมอันหนึ่งของพวกเรา ที่เรียกว่าเป็นหน้าที่ของบุคลากร ของครูอาจารย์ ของนักวิจัยส่วนหนึ่ง

“เราต้องช่วยกันบริโภค ช่วยกันเก็บรักษาไว้ให้มันอยู่กับสังคมเราให้นานที่สุด”

ติดตามชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และ vdo clip อื่นๆ ของคณะได้ที่
Youtube : Science CMU Official

2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Research@Sci...From Sky To Rock
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind

 

แกลลอรี่