นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. ร่วมศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการขาดความต่อเนื่องในการรับยา PrEP ของสตรีข้ามเพศในจังหวัดเชียงใหม่

15 พฤษภาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

         ทีมวิจัยจากภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.ณัฐภัท ทองศักดิ์ (1) และคณะ* ร่วมกับมูลนิธิเอ็มพลัส เชียงใหม่ ดร.ณัฑพร มโนใจ (2) คุณรัฐวิทย์ อภิพุทธิพันธ์ (3) องค์การแฟมิลี เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (FHI 360) กรุงเทพมหานคร คุณณิชา รองราม (4) ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ผศ. พญ.ณัฐนิตา มัทวานนท์ (5) และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ. ดร.นนท์ธิยา หอมขำ (13) ร่วมกันศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการขาดความต่อเนื่องในการรับยา PrEP ของสตรีข้ามเพศ ในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย (Risk Factors Associated with Loss to Follow-up Among Transgender Women Receiving HIV Pre-exposure Prophylaxis in Chiang Mai province, Thailand.)

    

ในกระบวนการศึกษาวิจัย นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ทางสถิติที่เกี่ยวข้องในการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการขาดความต่อเนื่อง (Loss to follow-up: LTFU) ในการรับยา Pre-exposure Prophylaxis (PrEP) ของสตรีข้ามเพศ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา และใช้ Kaplan-Meier curve ในการประมาณอัตรา LTFU สะสม ณ เดือนที่ 1 2 3 และ 6 หลังจากเริ่มยา PrEP จากนั้นทำการทดสอบ Log-rank เพื่อเปรียบเทียบอัตรา LTFU ระหว่างกลุ่มของตัวแปรและทำการวิเคราะห์ด้วย Cox proportional hazard regression model เพื่อระบุปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับ LTFU 

ผลการศึกษาพบว่า สตรีข้ามเพศส่วนใหญ่ที่ LTFU จากโปรแกรม PrEP เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ (28%) สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มาตามนัดหมายอย่างน้อย 1 ครั้งและ LTFU พบว่า 18% ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากการใช้ยา PrEP หรือกังวลว่าการรับ PrEP จะไปลดประสิทธิภาพของฮอน์โมนที่ใช้อยู่

โดยอัตรา LTFU ณ เดือนที่ 1 2 3 และ 6 หลังจากเริ่มยา PrEP ของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 8% 14% 23% และ 38% ตามลำดับ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ LTFU ของการใช้ยา PrEP ในกลุ่มสตรีข้ามเพศ คือ อายุและการติดเชื้อซิฟิลิส โดยพบว่า สตรีข้ามเพศที่มีอายุตั้งแต่ 26 ปีขึ้นไป และตรวจพบเชื้อซิฟิลิสในช่วงเริ่มต้นยา PrEP มีแนวโน้มที่จะ LTFU ออกจากโปรแกรม PrEP หลังจากมาตามนัดหมายอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อควบคุมปัจจัยความถี่ในการใช้ยา PrEP 

ทั้งนี้ แม้ว่าในประเทศไทยจะมีโครงการแจกยา PrEP ฟรี ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แต่สตรีข้ามเพศส่วนใหญ่ยังคงขาดความต่อเนื่องในการรับยา PrEP เนื่องจากตามแนวทางการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของประเทศไทย แพทย์จะทำการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปยังคลินิกเฉพาะทางโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงเกิดความล่าช้าในการนัดหมายระหว่างสตรีข้ามเพศที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อซิฟิลิสกับผู้ให้บริการ PrEP และคลินิกซิฟิลิส นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมบางคนยังพบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการรับยา PrEP ในช่วงล็อคดาวน์ขณะที่มีการระบาดของ COVID-19 ดังนั้น การบริการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedical consultation services) และการบริการส่งยา PrEP อาจเพิ่มอัตราการคงอยู่ในโปรแกรม PrEP ของสตรีข้ามเพศในประเทศไทย

บทความได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร AIDS and Behavior : doi: 10.1007/s10461-022-03782-7.
Impact Factor : 4.852 (Q1 ISI และ Scopus)

*ทีมวิจัยจากภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.ณัฐภัท ทองศักดิ์ (1) และคณะ* ประกอบด้วย ผศ. ดร.วลัยทิพย์ บุญญาติศัย (6) ผศ. ดร.บัณฑิตา พลับอินทร์ (7) ผศ. ดร.นวพร นาคหฤทัย (8) อาจารย์ ดร.สาลินี ธำรงเลาหะพันธุ์ (9) อาจารย์ ดร.พิมพ์วรัชญ์ ศรีคำมูล (10) รศ. ดร.ภัทรินี ไตรสถิตย์ (11) และนักศึกษาบัณฑิตศึกษาจากภาควิชาสถิติ น.ส.กนกกาญจน์ วงษ์สวัสดิ์ (12)

ภาพนักวิจัย








แกลลอรี่