ในช่วงอากาศหนาว หลายคนมักมีอาการปวดและเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งเรียกว่า “ตะคริว” อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรงและทันทีโดยไม่มีการสั่งงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ในบทความนี้จะสรุปสาเหตุ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และข้อแนะนำว่าควรพบแพทย์เมื่อไหร่ เพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าใจและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
อาการและลักษณะของตะคริว
ตะคริวเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อทันที และสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกมัด เช่น น่อง ต้นขา หน้าท้อง และอื่นๆ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวนานเกินไป เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีพอ ทำให้เกิดการปวดอย่างรุนแรง อาการจะหนักขึ้นหากเป็นตะคริวในกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น น่อง หรือกล้ามเนื้อที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวหรือหายใจ
สาเหตุของการเป็นตะคริว
สาเหตุของตะคริวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
• การใช้กล้ามเนื้อหนักเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนักหรือมากเกินไป
• สมดุลเกลือแร่ที่เปลี่ยนไป เช่น การสูญเสียโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม หรือโพแทสเซียม
• ภาวะขาดน้ำ
• ปัญหาการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคหลอดเลือดตีบ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
ชนิดของตะคริวที่พบบ่อย
-ตะคริวจากการออกกำลังกาย เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป
-ตะคริวขาตอนกลางคืน มักพบในผู้สูงอายุ และสัมพันธ์กับการเกร็งกล้ามเนื้อนานๆ เช่น ยืน เดิน หรือทำงานนานๆ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
• ยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ โดยยืดทิศทางตรงข้ามกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ แล้วค้างไว้สักครู่
• นวดคลึงเบา ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
• ค่อยๆออกแรงยืด โดยไม่มีการกระชากกล้ามเนื้อ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้
• ประคบอุ่นหรือเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวด
• ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ หากร่างกายขาดน้ำ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมีอาการต่อไปนี้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
• เป็นตะคริวบ่อยเกิน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
• ตะคริวที่เกิดขณะนอนหลับหรือกล้ามเนื้อที่เป็นไม่มีสัมพันธ์กับการทำงาน
• ตะคริวร่วมกับอาการอื่น เช่น อ่อนแรง ชา หรือกล้ามเนื้อกระตุก
• อาการไม่ดีขึ้นหลังจากยืดกล้ามเนื้อ 30 นาที
อาการตะคริวเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วย การพบแพทย์จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ. จักรกริช กล้าผจญ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่