พยาบาล มช. พัฒนาแอปพลิเคชั่นดูแลสุขภาพทางไกลที่บ้านแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุโรคไตที่ฟอกเลือด (Holistic Home Telehealth for Older Person living with Hemodialysis Application)

5 มีนาคม 2564

คณะพยาบาลศาสตร์

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาแอปพลิเคชั่น ดูแลสุขภาพทางไกลที่บ้านแบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Holistic Home Telehealth for Older Person living with Hemodialysis Application) เน้นการดูแล และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้สูงอายุโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มักจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการ บวม อาการปวด เมื่อต้องกลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน และเน้นการให้ความรู้ในการดูแลตนเองผ่านวีดีโอในเรื่องของการควบคุมน้ำ โภชนาการ การจัดการอาการ การรับประทานยา การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด

รศ.ดร.วณิชา พึ่งชมภู หัวหน้าโครงการวิจัย “การผสมผสานการดูแลสุขภาพทางไกลที่บ้านสู่การดูแลแบบองค์รวม: กรณีศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุโรคไตเรื้อรัง (The Integrating Home Telehealth into the Holistic End of Life Care: Pilot Study in Older Persons Living with Hemodialysis)” ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (National Research Council of Thailand (NRCT)) กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) โดยมีความเชื่อมโยง 3 แนวคิดหลักประกอบด้วย 1) ในแนวคิดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (end of life/palliative care) 2) ความต้องการบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Needs of health services provision in older persons) และ 3) แนวคิดการดูแลสุขภาพทางไกลที่บ้านในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Continuum of home telehealth) ผลของงานวิจัยจะช่วยลดภาระพยาบาลหน่วยไตเทียมเนื่องจากมีจำนวนจำกัด แต่จำนวนผู้ป่วยกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพยาบาลและแพทย์หน่วยไตเทียม สามารถทราบอาการผู้ป่วยได้ตลอดเวลา และสามารถให้คำแนะนำ และการดูแลเบื้องต้นผ่านระบบ Telehealth ช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนลง ลดค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและให้บริการผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยดังกล่าวได้รับเชิญให้นำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ในงานประชุมระดับนานาชาติ the 16th World Congress of the European Association for Palliative Care, in Berlin, Germany, 2019 และได้เผยแพร่บทคัดย่อในวารสาร Palliative Medicine Journal Vol. 33(1) รวมถึงได้รับเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในงานประชุม Digital Health: Idea Worth Sharing: The Association of Thai Professional in European Region (ATPER) Meeting, 2018, Oslo, Norway ในประเด็น Smart Health Care: Smart Health Monitoring Hemodialysis ปัจจุบันมีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อขยายผลภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

แกลลอรี่