วันถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคถุงลมโป่งพองโลก (GOLD) โดยปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก โดยจะจัดขึ้นในวันพุธที่สองของเดือนพฤศจิกายนในทุกปี หัวข้อรณรงค์ในปี 2024 คือ “Know Your Lung Function” ซึ่งเน้นย้ำให้ประชาชนรับรู้ถึงสภาพการทำงานของปอดตัวเอง และตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติการสัมผัสฝุ่นหรือสารเคมีในที่ทำงาน และผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
โรคถุงลมโป่งพองคืออะไร
โรคถุงลมโป่งพอง หรือที่รู้จักในชื่อทางการแพทย์ว่า “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” (COPD) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมและถุงลมในปอด อาจเกิดจากการอักเสบของหลอดลมและหลอดลมฝอย หรือการทำลายผนังถุงลม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า ไอเรื้อรัง มีเสมหะ และหายใจลำบาก อาการมักจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก
การกำเริบเฉียบพลันของโรคนี้ส่งผลต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น การลดลงของสมรรถภาพปอด และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลงในระยะยาว ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจะเผชิญกับการหายใจที่ไม่ปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤตได้หากไม่ได้รับการรักษาและดูแลที่เหมาะสม
โรคถุงลมโป่งพองคืออะไร
โรคถุงลมโป่งพองเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมและถุงลมในปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง มีเสมหะ และเหนื่อยง่าย การอักเสบนี้ทำให้หลอดลมและถุงลมเกิดความเสียหาย ผู้ป่วยจะมีการจำกัดการไหลเวียนของอากาศในขณะหายใจออก ซึ่งอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง
โรคนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สำคัญคือการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมและปอด นอกจากนี้ มลพิษจากอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และควันพิษจากการเผาไหม้ก็มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นโรคนี้
อาการของโรคถุงลมโป่งพอง
อาการหลักของโรคถุงลมโป่งพองคือ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย ซึ่งในระยะแรกมักจะเกิดขึ้นเมื่อออกแรงทำกิจกรรม แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการเหนื่อยอาจเกิดขึ้นแม้ในขณะพัก นอกจากนี้ อาจมีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจมีเสียงหวีดร่วมด้วย
การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง
การรักษาโรคถุงลมโป่งพองมักประกอบด้วย:
• การใช้ยา เช่น ยาสูดขยายหลอดลม ซึ่งช่วยลดอาการเหนื่อยและช่วยให้การหายใจสะดวกขึ้น
• การเลิกสูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการกำเริบของโรค
• วัคซีน ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
• การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยระดับปานกลางขึ้นไป
การป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง
การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและการป้องกันการกำเริบของโรคทำได้โดยไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงมลภาวะและฝุ่นควันในอากาศ การปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ในการใช้ยา รวมถึงการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
โรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ การหมั่นดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพและปอดที่แข็งแรงในระยะยาว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่