วันต้อหินโลก

13 มีนาคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

วันต้อหินโลก: ภัยเงียบที่ต้องตระหนัก


ทุกสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มีนาคมถูกกำหนดให้เป็น ‘วันต้อหินโลก’ (World Glaucoma Day) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคต้อหิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะตาบอดถาวรทั่วโลก โรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่มีอาการชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคจนสูญเสียการมองเห็นในระยะขั้นรุนแรง จึงถือเป็นภัยเงียบที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาเพื่อชะลอการดำเนินของโรคได้


โรคต้อหินคืออะไร
ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความดันลูกตาสูง ซึ่งส่งผลให้ขั้วประสาทตาถูกทำลาย ทำให้ลานสายตาแคบลงและสูญเสียการมองเห็นถาวร โรคต้อหินสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
• ต้อหินปฐมภูมิ : ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและอายุที่เพิ่มขึ้น
• ต้อหินทุติยภูมิ : เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ อุบัติเหตุทางตา หรือโรคทางตาอื่น ๆ
นอกจากนี้ ต้อหินยังแบ่งตามกลไกการเกิดโรคได้เป็น ต้อหินมุมเปิด ซึ่งพบได้บ่อยและดำเนินโรคช้า กับ ต้อหินมุมปิด ซึ่งพบมากขึ้นในชาวเอเชียและอาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทำให้มีอาการปวดตารุนแรง ตามัว และเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ


ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน
แม้โรคต้อหินสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
• ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่มีประวัติต้อหินในครอบครัว
• ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ
• ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมาก
• ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
• ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา


อาการของโรคต้อหิน
ในระยะแรก ต้อหินมักไม่มีอาการชัดเจน จนกว่าการมองเห็นจะถูกทำลายไปบางส่วนแล้ว อาการที่ควรระวัง ได้แก่
มองเห็นแคบลงเหมือนมองผ่านกล้องส่องทางไกล เดินชนสิ่งของรอบข้าง สังเกตเห็นภาพบางส่วนหายไป มีจุดบอดเป็นหย่อมๆ หรือเทียบลานสายตาของทั้งสองข้างกว้างไม่เท่ากัน
สำหรับต้อหินมุมปิดเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ ปวดศีรษะรุนแรง และคลื่นไส้อาเจียน
วิธีการวินิจฉัยโรคต้อหิน


การตรวจคัดกรองต้อหินมีหลายวิธี เช่น
• การวัดความดันตา : หากมีความดันลูกตาสูง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคต้อหิน
• การตรวจขั้วประสาทตา : เพื่อตรวจหาความเสียหายของขั้วประสาทตา
• การตรวจลานสายตา : เพื่อตรวจหาพื้นที่ที่สูญเสียการมองเห็น
• การตรวจมุมตา : เพื่อแยกประเภทของโรคต้อหิน


ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคต้อหินต้องอาศัยหลายองค์ประกอบร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงชนิดและสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือตรวจพบลักษณะทางตาที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินควรเข้ารับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการวินิจฉัยที่รวดเร็วและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
แนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพดวงตา


แม้โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการลุกลามของโรคได้ ซึ่งการควบคุมความดันตา และรักษาสาเหตุของโรค เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัดแต่การดูแลสุขภาพร่างกาย อาจสามารถช่วยในการชะลอการดำเนินโรคของต้อหินได้ ซึ่งมีหลักฐานในงานวิจัย อาทิ
• ควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง
• รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุ
• การออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันความสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหิน


การรักษาต้อหิน
วิธีการรักษาต้อหินขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค ได้แก่
• ยา ทั้งหยอดตาและยารับประทาน : ช่วยลดความดันตา
• เลเซอร์ : ใช้เปิดทางระบายน้ำในลูกตาเพื่อลดความดันในกรณีต้อหินมุมปิด และส่งเสริมการทำงานของช่องทางระบายน้ำในลูกตากรณีต้อหินมุมเปิด หรือเพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตาเพื่อลดความดันตา
• การผ่าตัด : สำหรับกรณีที่การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผล


โรคต้อหินเป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร การตรวจตาเป็นประจำคือกุญแจสำคัญในการป้องกันและรักษา อย่ารอให้สายเกินไป มาใส่ใจสุขภาพดวงตาของคุณตั้งแต่วันนี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.พญ.พิชญา กุลนิวัฒเจริญ อาจารย์ด้านประสาทจักษุวิทยา ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU #วันต้อหินโลก

แกลลอรี่