การผลิตไหลสตรอว์เบอร์รีปลอดโรคภายใต้โรงเรือนระบบปิด

30 เมษายน 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

สตรอว์เบอร์รีเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของทางภาคเหนือที่มีมูลค่าในเชิงผลตอบแทนเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายผลสดและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี


ในหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีได้ขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมพื้นที่มากกว่า 7,000 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่า 10,000 ตัน โดยทั่วไป ราคาผลสด ต่อกิโลกรัมจะอยู่ในช่วง 150-400 บาท อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรผลิตแบบประณีตมุ่งเน้นคุณภาพและ ความปลอดภัยของผลผลิตที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสตรอว์เบอร์รีผลสด ได้อีกหลายเท่าตัว ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อสายพันธุ์ของพืชและคุณภาพของต้นพันธุ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบการผลิต แต่ปัจจุบันเกษตรกรมักประสบปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้วยมีการใช้ต้นพันธุ์เดิม ๆ หมุนเวียนซ้ำทุกปี ทำให้พืชอ่อนแอมีโรคสะสมอยู่เสมอ จึงยากต่อการที่เกษตรกรจะลดการใช้สารเคมีในการผลิตลงได้


รองศาสตราจารย์ ดร. เกวลิน คุณาศักดากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตสตรอว์เบอร์รี ทั้งด้านการพัฒนาสายพันธุ์และการผลิตไหลสตรอว์เบอร์รีปลอดโรค สืบเนื่องจากคณะฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี สู่ Smart Farmer มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีในภาคเหนือ จำนวน 5 กลุ่ม กว่า 80 ราย ได้ร่วมดำเนินงานในโครงการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตรในการสร้างเสริมพัฒนาสวนสตรอว์เบอร์รีปลอดภัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยว โดยคณะฯ ร่วมผลักดันให้เกิดการเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีภายใต้โรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักวิจัยของคณะฯ มีการรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกในประเทศไทยไว้อย่างหลากหลาย และได้ดำเนินการผลิตต้นแม่พันธุ์ปลอดโรคด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับการให้ความร้อนกำจัดเชื้อสาเหตุโรคที่แอบแฝงในเนื้อเยื่อพืชออกไป ทำให้สามารถนำต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคนั้นมาผลิตไหลหรือกล้าพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีคุณภาพสูงและปลอดโรคได้อย่างต่อเนื่อง โดยคณะฯ มีโครงการนำร่องการผลิตไหลปลอดโรคภายใต้โรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานของการรับรองคุณภาพของต้นกล้าระดับสากล (Certified seedling) โดยได้ผลิต ต้นแม่พันธุ์และไหลสตรอว์เบอรีรุ่นต่าง ๆ (G1-G4) อย่างครบวงจร มีการจำหน่ายไหลรุ่นที่ 2-4 ไปให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจแล้ว จำนวนมากกว่า 20,000 ไหล และได้รับ feed back ที่ดีด้านความแข็งแรงและการเจริญเติบโตเร็วของต้นกล้า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 ไหลต่อปี ไหลที่ผลิตได้นี้สามารถร่วมส่งเสริมให้แก่เกษตรกรเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือข้างต้น และเกษตรกรทั่วไป เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ปลอดโรค ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีควบคุมศัตรูพืช เป็นการลดต้นทุน และนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและมอบผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคที่ยังคง
ชื่นชอบในกลิ่นหอม รสชาติเข้มข้น อร่อย สด สะอาด และปลอดภัย ของผลผลิตสตรอว์เบอร์รีในประเทศไทย


จากผลการวิจัย คณะฯ ได้ผลิตไหลสตรอว์เบอร์รีปลอดโรคในเชิงการค้า มีการจำหน่ายไหลรุ่นที่ 4 (G-4) ซึ่งมีความแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ผ่านการกระตุ้นตาดอก สามารถนำไปเพาะปลูกได้คุ้มค่ากว่าไหลในรุ่นอื่นๆ เกษตรกรสามารถควบคุมการผลิตได้ตามเป้าหมายมากขึ้น ดังนั้น หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจไหลปลอดโรคคุณภาพดีพร้อมการให้บริการคำปรึกษาอย่างครบวงจรในเรื่องของการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนระบบปิด หรือเกษตรกรที่ต้องการยกระดับคุณภาพด้านการผลิตสตรอว์เบอร์รีผลสดให้ดีขึ้น


สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการวิชาการฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือติดต่อได้ที่เพจ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-944088 ได้ ในวันเวลาราชการ


ต้นไหลสตรอว์เบอร์รีปลอดโรคที่ปลูกภายใต้โรงเรือนระบบปิด



ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีจากงานวิจัย ที่ปลูกภายใต้โรงเรือนระบบปิด




รศ.ดร.เกวลิน คุณาศักดากุล
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผู้คิดค้นงานวิจัย




ผศ.ดร.ดรุณี นาพรหม
รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผู้ร่วมคิดค้นงานวิจัย

ข้อมูลโดย : คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่