นักวิจัย มช. ร่วมกันศึกษาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ของเยาวชนไทย เพื่อหาแนวทางรับมือและป้องกัน

26 ตุลาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

           ทีมนักวิจัยภาควิชาสถิติ และกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับนักวิจัยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิเอ็มพลัส ได้ร่วมกันสำรวจและวิเคราะห์ความตระหนัก การรับรู้ และการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ของเยาวชนไทย เพื่อหาแนวทางการรับมือและป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์อย่างเหมาะสมสำหรับเยาวชนในอนาคต 

นักวิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียน 14 แห่ง ทั่วประเทศ จำนวน 2,683 คน และนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 721 คน ใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ (เช่น เพศ อายุ สถานะครอบครัว บุคคลที่อาศัยอยู่ด้วย การใช้สื่อสังคมออนไลน์) ประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และวิธีรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ จากนั้นวิเคราะห์และเปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลแต่ละกลุ่ม

ผลการศึกษาพบว่า เพศ อายุ และจำนวนชั่วโมงที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลต่อความตระหนักและการรับรู้เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ โดยนักเรียนและนักศึกษาเพศหญิงที่อายุมากกว่าและใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อวันนานกว่า จะมีความตระหนัก การรับรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มากกว่า เพศชายมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กลั่นแกล้งในโลกออนไลน์สูงกว่าเพศหญิง สาเหตุของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่มาจากการหยอกล้อ ผู้กลั่นแกล้งมักไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเหยื่อ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการส่งข้อความเยาะเย้ยหรือด่าทอเหยื่อ วิธีการรับมือกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ คือ การเพิกเฉย ไม่สนใจต่อการกลั่นแกล้ง โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่าจะมีแนวโน้มในการรับมือกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ได้ดีกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

งานวิจัยนี้จะช่วยให้ทราบปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ของเยาวชนไทย ทั้งของผู้กลั่นแกล้ง (ผู้กระทำ) และผู้ถูกกลั่นแกล้ง (เหยื่อ) ลักษณะการกระทำและรูปแบบของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ รวมทั้งวิธีการรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ของเยาวชนไทย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นแนวทางในการป้องกันและรับมืออย่างเหมาะสมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐและเอกชน

ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร  PLoS ONE (Q1 ISI/Scopus, Impact Factor 3.752) Published: April 29, 2022
ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1371/journal.pone.0267702  

.
รายชื่อนักวิจัย
ทีมนักวิจัยภาควิชาสถิติ และกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย อ.ดร.สาลินี ธำรงเลาหะพันธุ์ อ.ดร.พิมพ์วรัชญ์ ศรีคำมูล รศ.ดร.ภัทรินี ไตรสถิตย์ อ.อัญมณี กุมมาระกะ และ อ.ฤทัยชนก กาศเกษม

ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.จีรยุทธ ไชยจารุวณิช

ร่วมกับ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) พญ.เบญจลักษณ์ มณีทอน และ ศ.นพ.ณรงค์ มณีทอน

คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ศศิกานต์ ลิมปิติ

มูลนิธิเอ็มพลัส
ดร.ณัฑพร มโนใจ



แกลลอรี่