ลำไยเป็นสินค้าทางการเกษตรสำคัญของภาคเหนือ ลำไยสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษานอกฤดูกาลผลิต ได้แก่ ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และไวน์ลำไย การผลิตไวน์ลำไยในปัจจุบันนิยมใช้แต่เนื้อลำไย ทำให้ไวน์ที่ได้ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปริมาณต่ำกว่าไวน์แดงที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
เมล็ดลำไยถือว่าเป็นขยะทางการเกษตร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการศึกษาทางวิชาการพบว่าเมล็ดลำไยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิดในปริมาณสูง ทีมวิจัยของ รศ.ดร.สุกัญญา มหาธีรานนท์ และ ผศ.ดร.ศิลา กิตติวัชนะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ผศ.ดร.กนกวรรณ ตาลดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนากระบวนการหมักไวน์โดยใช้เนื้อและเมล็ดลำไยด้วยยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisiae EC-1118 ทำให้ไวน์ที่ผลิตได้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงขึ้น
เพื่อเข้าใจสมบัติการต้านสารอนุมูลอิสระที่สูงขึ้นในเชิงลึก ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างท้าทาย ทีมวิจัยฯ ได้วิเคราะห์องค์ประกอบสารระเหย (volatile compounds) ในไวน์ลำไยโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ด้วยโครมาโทกราฟี-แมสสเปคโทรเมทรี (Gas Chromatography-Mass Spectrometry, GC/MS) ร่วมกับการวิเคราะห์ทางเคโมเมทริกซ์ (Chemometric analysis) พบว่า ไวน์ลำไยที่ใช้เมล็ดลำไยในการหมักประกอบด้วยสารระเหยหลายตัวที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มสมบัติการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ phenethyl alcohol, 2,3-butylene glycol, 5-hydroxymethyl-2-furaldehyde, ethyl hydrogen succinate, และ 4-hydroxyphenethyl alcohol
ทีมวิจัยฯ ได้รายงานการศึกษาดังกล่าวในวารสารวิชาการ Food Chemistry ที่มี Impact Factor 7.514 (Top 3% ในสาขา Food Science) ความเข้าใจดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างมากในการต่อยอดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการหมักไวน์ การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของไวน์จากลำไย รวมถึงเพิ่มมูลค่าของเมล็ดลำไยที่เป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตร
ข้อมูลเพิ่มเติม
Tandee, K., Kittiwachana, S., Mahatheeranont, S. Antioxidant activities and volatile compounds in longan (Dimocarpus longan Lour.) wine produced by incorporating longan seeds. Food Chem., 2021, 348, 12891
https://doi.org/10.1016/j.foodchem.2020.128921