รู้ไว้ใช่ว่า ... คะน้า ผักกาดขาว กะเพรา ตัวทำคนเชียงใหม่เผชิญเคมีตกค้างในเลือดสูงสุด มช. + สสส. จับมือภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค มุ่งเป้าสู่เมืองอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง

14 ธันวาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมทีม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานพลังกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เดินหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคและกลุ่มผู้เปราะบางในช่วงภาวะวิกฤติ พร้อมผลักดันระบบห่วงโซ่อาหารครบวงจรเข้าสู่ภารกิจของหน่วยงานในเชียงใหม่ เร่งขับเคลื่อนการทำงานด้านอาหารปลอดภัย สร้างความรอบรู้ด้านอาหารแก่ผู้บริโภค ลดสารเคมีตกค้างในผักที่กระทบสุขภาพ มุ่งเป้าสู่เมืองอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง

โครงการฯ เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วผ่านเทศกาล Green Your @กาดต่อนยอน ชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นางประภาศรี บุญวิเศษ กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม จึงผนวกภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล กระบวนการพัฒนาต้นแบบพื้นที่อาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง พบว่าในเชียงใหม่พบสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ การสร้างความรอบรู้ด้านอาหารให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผลอินทรีย์ร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม โรงเรียน พัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน ช่วยผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญที่สุดอันนำไปสู่การสร้างอาหารจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเองได้

ศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้จัดการโครงการฯ เผย จากการทดลองและวิจัย พบพืชผักในเชียงใหม่ที่มีสารเคมีตกค้างมาก 5 อันดับแรก คือ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กระเพรา พริกขี้หนู ทำให้ระดับสารเคมีในเลือดของอาสาสมัคร 189 คน อยู่ในระดับเสี่ยงถึง 56.25%, ไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัย – ปกติเกาะที่ 9.18 และ 6.49 เท่านั้น ขณะเดียวกันสิ่งที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลชี้ให้เห็นภาคเหนือมีสารเคมีตกค้างในร่างกายประชาชนระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงสุดมากว่า 10 ปี ในปี 2565 มีสารเคมีตกค้าง 70.3% ภาคใต้ 58.65% ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14%

แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค ช่วยผลักดันห่วงโซ่อาหารปลอดภัยในภาวะวิกฤต โดยผลักดันกระบวนการให้เข้าสู่ภารกิจของหน่วยงานของเชียงใหม่ เป็นกระบวนการทดสอบการตกค้างของสารเคมีในพืชผัก เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัยให้กับชุมชนและผู้บริโภค ก่อความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันให้เกิดนโยบายขับเคลื่อนสร้างความรอบรู้ด้านอาหารให้กับคนเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนืออย่างแท้จริง นำไปสู่ 1 ใน 9 พื้นที่ต้นแบบสร้างนวัตกรรมกลไกอาหารปลอดภัยของ สสส. ส่งต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ส่วนการจัดเทศกาล Green Your Food คือสนามเปิดให้คนทำงานในด้านธุรกิจอาหารปลอดภัย ร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิด ขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจานอาหารของผู้บริโภค พร้อมเปิดตัวนวัตกรรม Green Farm ระบบเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรที่มีผักผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ ทำให้ร้านอาหารมีแหล่งซื้อผักอินทรีย์ในราคาต้นทุน นอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ยังลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด พร้อมพัฒนานวัตกรรม Green Kitchen, Green Distribution ตราสัญลักษณ์เพื่อการันตีมาตรฐานสำหรับร้านอาหาร/ศูนย์การค้าที่มีวัตถุดิบที่ปลอดภัย เป็นกำลังใจให้กับร้านอาหารที่ให้ความร่วมมือส่งต่ออาหารเพื่อสุขภาพแก่ผู้บริโภค มีผู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้รับตราสัญลักษณ์ Green Farm, Green Kitchen, Green Distribution กว่า 100 ราย

ความมุ่งหวังสูงสุดของความร่วมมือครานี้ช่วยสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนให้ทุกคนเข้าถึง อีกทั้งได้รับอาหารที่มีโภชนาการสูง มากกว่านั้นยังช่วยเกษตรกรผู้ปลูกพืชผลปลอดภัยมีรายได้มั่นคง นับเป็นการสร้างอาชีพ นอกจากนี้กลุ่มคนเปราะบางสามารถในการพึ่งพาตนเอง เกิดความรอบรู้ด้านอาหาร รู้แหล่งพื้นที่อาหารใกล้บ้าน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสม ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีให้กับคนเชียงใหม่ในระยะยาว


**ขอบคุณภาพ และข้อมูลเพิ่มเติม

มติชน : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3710154
ข่าวสด : https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7399761
ผู้จัดการ : https://mgronline.com/qol/detail/9650000115645
กรุงเทพธุรกิจ(1) : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/food/1041360
กรุงเทพธุรกิจ(2) : https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1041393
สยามรัฐ : https://siamrath.co.th/n/404936
ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1139790
โลกวันนี้ : https://www.lokwannee.com/web2013/?p=443520
อีจัน : https://www.ejan.co/general-news/m2sujby87e
CH3Plus(1) : https://ch3plus.com/news/social/morning/323492
CH3Plus(2) : https://ch3plus.com/news/social/ch3onlinenews/323488
CH8 : https://www.thaich8.com/news_detail/116100/ภาคเหนืออ่วม-พบสารเคมีในผักสูงสุด-เชียงใหม่-เสี่ยงอันดับ-1-ตกค้างกว่า-70-percent
News1live : https://news1live.com/detail/9650000115645
ข้อมูลโดย : https://eng.cmu.ac.th/?p=30663
แกลลอรี่